คณะ อ.ก.พ.ร. และผู้บริหารภาครัฐ เยี่ยมชมศูนย์ Hotspot เครือซีพี ย้ำระบบตรวจสอบย้อนกลับ กลไกสำคัญ สู้ปัญหาเผา-บุกรุกป่า

พระนครศรีอยุธยา – เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 คณะผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ นำโดย นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม พร้อมด้วย นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม และคณะผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าเยี่ยมชมศูนย์บริหารจัดการข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ณ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และการส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture)

การต้อนรับคณะในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ผู้บริหารสูงสุด ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย ดร.สดุดี สุพรรณไพ รองกรรมการผู้จัดการด้านความยั่งยืนธุรกิจ CPCRT และนายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ BKP ร่วมให้ข้อมูลและนำชม

นายจอมกิตติ ศิริกุล กล่าวถึงความสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับและนโยบายด้านความยั่งยืนของเครือซีพี โดยเน้นย้ำวิสัยทัศน์ของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เครือฯ มีนโยบายที่ชัดเจนคือ “ไม่รับซื้อและไม่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่บุกรุกป่า หรือพื้นที่ที่มีการเผาทำลาย” พร้อมทั้งพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) มาใช้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการจัดหาวัตถุดิบทั้งในประเทศไทยและขยายผลไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง

ด้าน ดร.สดุดี สุพรรณไพ ชี้แจงว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับของกลุ่มธุรกิจในเครือซีพีทั้ง CPP และ BKP ได้บูรณาการร่วมกัน เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เครือซีพีมุ่งมั่นทำธุรกิจที่คำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกร ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ศูนย์บริหารจัดการข้อมูลจุดความร้อนถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเชิงรุกเพื่อตรวจจับจุดฮอตสปอตในพื้นที่การเกษตร หาแนวทางลดการเผา และยกระดับภาคการเกษตรไทย นอกจากนี้ ยังมีการทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างจริงจัง

ดร.สดุดี กล่าวเสริมว่า CPP ในฐานะธุรกิจต้นน้ำ สนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ ร่วมมือกับคู่ค้า และมีการถอดบทเรียนเพื่อปรับปรุงระบบฯ โดยร่วมกับยูนูสและมหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนี้ ยังมีการทวนสอบย้อนกลับ ณ แปลงปลูกจากองค์กรภายนอกอย่าง คอนโทรลยูเนี่ยน (Control Union) เพื่อประเมินและยกระดับมาตรฐานผ่านการส่งเสริมเกษตรยั่งยืน ปัจจุบันระบบตรวจสอบย้อนกลับครอบคลุมทั้งในไทยและเมียนมา โดยมีแผนขยายไปยังลาว กัมพูชา และเวียดนาม และกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรฯ ได้ประกาศเป้าหมายการซื้อและขายเมล็ดพันธุ์ภายใต้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ 100% รวมถึงเป้าหมายในเมียนมาเพื่อให้ข้าวโพดที่ส่งออกไทยผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับภายใต้มาตรฐาน MCIA

นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ จากกรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือซีพีเป็นภาคเอกชนไทยรายแรกที่พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนต้องมีเอกสารสิทธิ์เพื่อยืนยันว่าไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่า บริษัทมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งใช้เทคโนโลยีดาวเทียม VIIRS และ FIRMS ของ NASA ในการระบุพิกัดและตรวจจับจุดความร้อนในแปลงข้าวโพดของเกษตรกรที่อยู่ในระบบตรวจสอบย้อนกลับ หากพบการเผาในพื้นที่จดทะเบียน บริษัทจะตรวจสอบและหยุดซื้อจากแปลงนั้นทันที นอกจากนี้ ยังมีการแชร์ข้อมูลฮอตสปอตกับคู่ค้าเพื่อร่วมติดตามเกษตรกร และมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” พร้อมเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการเผาผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับและแอปพลิเคชัน ฟ.ฟาร์ม เครือซีพีพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนผลักดันระบบตรวจสอบย้อนกลับให้เป็นมาตรฐาน เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

ระบบตรวจสอบย้อนกลับและศูนย์บริหารจัดการข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ถือเป็นกลไกสำคัญที่มีประสิทธิภาพในการยุติปัญหาการบุกรุกป่าและการเผาในห่วงโซ่อุปทานด้านเกษตรกรรม ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 จุดเด่นของศูนย์คือการใช้ข้อมูลจากระบบ VIIRS (Visible Infrared Imaging Radiometer Suite) บนดาวเทียม Suomi NPP NOAA-20 NOAA-21 ดึงข้อมูลจาก FIRMS ของ NASA มาประมวลผลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่แม่นยำสูง

ผู้สนใจสามารถติดตามสถานการณ์จุดความร้อนแบบเรียลไทม์ได้ทางเว็บไซต์ https://sgc.cptg.co.th/en/hotspot-report

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *