ดีเอสไอ เร่งสอบ สตง. ปมคัดเลือกผู้ควบคุมงานตึก หลังเจอวิศวกร 30 คนอ้างถูกปลอมลายเซ็น คาดสรุปสำนวนใน 20 วัน
ดีเอสไอสอบเข้ม สตง. คณะกรรมการคัดเลือกผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร
ความคืบหน้ากรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือ คดีนอมินี ที่ก่อนหน้านี้ได้ขยายผลมาถึงสัญญาการควบคุมงานก่อสร้างอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และได้มีการออกหมายเรียกพยานซึ่งเป็นวิศวกรภายใต้กิจการร่วมค้า PKW จำนวน 40 ราย เข้าให้ปากคำชี้แจงกรณีมีรายชื่อและลายเซ็นปรากฏในเอกสารควบคุมงานตึก สตง. ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม 2568 นั้น
ล่าสุด มีรายงานจากดีเอสไอว่า มีวิศวกรเข้าพบพนักงานสอบสวนรวมทั้งสิ้น 38 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อควบคุมงานตึก สตง. จริง จำนวน 8 ราย และผู้ที่ให้การว่าถูกปลอมลายเซ็น จำนวนถึง 30 ราย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่พนักงานสอบสวนกำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบ
สอบสวนคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อปมเหตุผลในการคัดเลือกกิจการร่วมค้า PKW
พ.ต.ท. อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่า ได้มีการมอบหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบปากคำเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ของ สตง. ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ควบคุมงานในโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
การสอบปากคำคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามในประเด็นสำคัญว่า เหตุใด กิจการร่วมค้า PKW (อันประกอบด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด, บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และ บริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด) จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ควบคุมงานโครงการนี้ โดยจะมีการสอบถามถึงหลักเกณฑ์และกระบวนการในการคัดเลือกที่ได้ระบุไว้ตามเงื่อนไขการอ้างอิง (Terms of Reference หรือ TOR) การจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขของงาน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่าการคัดเลือกเป็นไปตาม TOR ที่กำหนดไว้หรือไม่
เร่งรัดสอบสวนและเตรียมสรุปสำนวนใน 20 วัน
พ.ต.ท. อมร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการสอบปากคำคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ควบคุมงานแล้ว ทางดีเอสไอ ยังมีแผนที่จะสอบสวนปากคำคณะกรรมการผู้พิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ออกแบบโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน ส่วนพยานวิศวกรที่ยังไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดหมายก่อนหน้านี้ ก็จะยังคงดำเนินการสอบสวนอย่างต่อเนื่อง หากมีการเข้าพบและให้การชี้แจง ก็จะนำเข้าสำนวนการสอบสวนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ด้วยกรอบระยะเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 20 วัน ในการทำสำนวนคดีนอมินีนี้ ดีเอสไอจึงจำเป็นต้องเร่งรัดการสอบสวนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญอื่นๆ ประกอบด้วย เพื่อให้สามารถจัดการประชุมคณะพนักงานสอบสวนเพื่อสรุปสำนวน ก่อนที่จะนำส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป.