เหยื่อ ‘หอพักมหาภัย’ กว่า 70 ราย ร้องสภาทนายฯ ยันไม่หวั่นอิทธิพล ชี้เข้าข่ายผิดอาญาแผ่นดิน
กรุงเทพมหานคร – เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน กลุ่มผู้เสียหายกว่า 70 ราย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากพฤติการณ์ของเจ้าของหอพักแห่งหนึ่ง เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อสภาทนายความ โดยมี นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ และ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นผู้รับเรื่อง
นายวีรศักดิ์ โชติวานิช กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ธุรกิจหอพักมีกฎหมายหลายฉบับควบคุม และจัดเป็นธุรกิจให้เช่าเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลโดยตรง
จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ นายวีรศักดิ์ ได้หยิบยกประเด็นสำคัญที่อาจเข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย อาทิ กรณีเจ้าของหอพักมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่าโดยที่ผู้เช่าไม่ยินยอม ซึ่งอาจเข้าข่ายปลอมเอกสาร ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา และประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ กรณีนักศึกษาถูกเจ้าของหอพักกักขังเมื่อต้องการย้ายออก การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำให้ผู้อื่นสูญเสียเสรีภาพ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าของหอพักกระทำการเช่นนั้นได้ ความผิดทั้งสองประเด็นนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ผู้เสียหายบางรายถูกยึดเอกสารสำคัญและทรัพย์สินส่วนตัว เช่น iPad แม้ผู้เช่าจะผิดสัญญา เจ้าของหอพักก็ไม่มีสิทธิ์ยึดทรัพย์ของผู้เช่า การกระทำเช่นนี้เข้าข่ายความผิดฐาน ลักทรัพย์ อย่างแน่นอน
นายวีรศักดิ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความผิดอาญาแผ่นดินเหล่านี้มีอายุความ 5 ปี หากเหตุการณ์เกิดขึ้นภายในระยะเวลาดังกล่าว ผู้เสียหายยังคงสามารถดำเนินคดีได้ และจากจำนวนผู้เสียหายกว่า 70 ราย รวมถึงตัวแทนจากมหาวิทยาลัยรังสิตที่เข้ามาให้ข้อมูล ยืนยันได้ว่านี่ไม่ใช่กรณีการกลั่นแกล้ง แต่เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง ความปลอดภัย (ทางหนีไฟ) สุขอนามัย การต่อใบอนุญาตประกอบกิจการหอพัก รวมถึงการชำระภาษีอย่างถูกต้อง
สำหรับรายงานข่าวที่ระบุว่าเจ้าของหอพักอาจมีความใกล้ชิดกับผู้มีอิทธิพล นายวีรศักดิ์ กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า สภาทนายความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และจะไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอิทธิพลไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ หากการสอบสวนพบว่ามีบุคคลอื่นอยู่เบื้องหลัง อาจเข้าข่ายเป็นตัวการร่วม สนับสนุน หรือยินยอมให้ใช้ชื่อไปอ้าง ก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายวีรศักดิ์ ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้เสียหายที่ประสงค์จะขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความว่า หากเคยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจใดก็ตาม ขอให้นำสำเนาบันทึกประจำวันมาประกอบการยื่นเรื่อง หรืออย่างน้อยจำวันเวลา สถานีตำรวจ และเลขคดีไว้ ทางสภาทนายความจะช่วยติดตามสถานะคดีให้
ด้าน นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า ทางสภาทนายความจะดำเนินการสอบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายและตัวแทนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิตอย่างละเอียด เพื่อให้ทนายความอาสาบันทึกข้อมูลไว้ และจะเร่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด
เมื่อถูกถามถึงแนวทางการดำเนินคดี นายวิเชียร กล่าวว่า การดำเนินคดีอาญามี 2 แนวทางหลัก คือ การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ซึ่งผู้เสียหายสามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ในบางข้อหา และอีกแนวทางคือ หากผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเองในฐานะโจทก์ สภาทนายความยินดีจัดหาทนายความให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หากจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก สภาทนายความก็พร้อมประสานงานให้ โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียหายจริงอาจมีมากกว่า 70 ราย เนื่องจากบางส่วนยังไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะความกังวลเรื่องอิทธิพล
สภาทนายความยืนยันที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายในกรณี ‘หอพักมหาภัย’ นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและสิทธิเสรีภาพของประชาชน.