เทศบาลนครอุดรธานี แจงใช้งบ 32 ล้าน ซื้อเครื่องออกกำลังกายสแตนเลส ยันผ่านขั้นตอนโปร่งใส ทำประชาพิจารณ์แล้ว ชุมชนพอใจความคงทน
อุดรธานี – วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งชนิดสแตนเลส จำนวน 33 ชุด ด้วยงบประมาณสูงถึง 32 ล้านบาท ของเทศบาลนครอุดรธานี โดยมีผู้แสดงความเห็นว่าเป็นราคาสูงเกินความจำเป็นเมื่อเทียบกับประเภทของอุปกรณ์
ล่าสุด นายไพทูรย์ เหลืองอิงคะสุต ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน โดยระบุว่าข้อมูลที่เผยแพร่ในโซเชียลฯ อาจยังไม่ครบถ้วนและทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเทศบาลฯ
นายไพทูรย์ เปิดเผยถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องออกกำลังกายสแตนเลสดังกล่าวว่า ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2567 เทศบาลนครอุดรธานีได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของชุมชนในเขตเทศบาลทั้ง 105 ชุมชน เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องออกกำลังกาย และสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้ง เมื่อได้ข้อมูลจากการสำรวจแล้ว จึงนำเรื่องนี้เข้าบรรจุในแผนพัฒนาประจำปี และนำเสนอต่อที่ประชุมสภาเทศบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นเทศบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งที่ประชุมสภาฯ ได้มีมติเห็นชอบและผ่านการพิจารณา
จากนั้น เทศบาลฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งเพื่อยืนยันข้อมูลและตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ พบว่ามีชุมชนที่มีความเหมาะสมและถูกต้องตามหลักเกณฑ์จำนวน 30 ชุมชน จากทั้งหมด 105 ชุมชน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างขึ้น เพื่อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) โดยละเอียด ทั้งคุณสมบัติทางเทคนิคและราคากลางของอุปกรณ์
กระบวนการสืบราคาก่อนการประกาศจัดซื้อ ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังผู้ประกอบการที่จำหน่ายอุปกรณ์ประเภทนี้จำนวน 7 ราย เพื่อรวบรวมข้อมูลและนำมากำหนดรายละเอียดในเอกสารประกวดราคา เมื่อประกาศจัดซื้อแล้ว มีผู้ยื่นเสนอราคาจำนวน 3 ราย และผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท ส.สิงห์อยู่สปอร์ต จำกัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งในพื้นที่ 30 ชุมชน โดยคณะกรรมการยังไม่ได้ดำเนินการตรวจรับหรือส่งมอบงานเครื่องออกกำลังกายสแตนเลสนี้แต่อย่างใด
ปลัดเทศบาลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือกใช้เครื่องออกกำลังกายชนิดสแตนเลส เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นวัสดุที่มีความคงทนสูง สามารถใช้งานได้ยาวนานไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งน่าจะมีความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด เมื่อเทียบกับวัสดุประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ อุปกรณ์ออกกำลังกายสแตนเลสก็เป็นที่นิยมและมีการจัดซื้อในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่น ๆ อีกหลายแห่ง
สำหรับรายละเอียดงบประมาณ แยกเป็น:
ชุดเล็ก (8 ตัว): ราคาชุดละ 673,500 บาท จำนวน 26 ชุด รวมเป็นเงิน 17,511,000 บาท
ชุดคู่/ใหญ่ (8 คู่ 16 ตัว): ราคาชุดละ 2,079,000 บาท จำนวน 7 ชุด รวมเป็นเงิน 14,553,000 บาท
รวมงบประมาณทั้งหมด 32,064,000 บาท
เมื่อถูกถามถึงเหตุผลที่ราคาค่อนข้างสูง ทั้งที่อุปกรณ์ดูเหมือนไม่มีกลไกซับซ้อน นายไพทูรย์ ยืนยันว่า ทุกอย่างได้ผ่านกระบวนการตามระเบียบ ทั้งการสืบราคา การพิจารณาของคณะกรรมการ และที่สำคัญคือได้มีการทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ซึ่งประชาชนได้รับรู้รับทราบในโครงการนี้
ในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ชุมชนพิชัยรักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับเครื่องออกกำลังกาย พบว่ามีการติดตั้งอุปกรณ์แล้ว และมีการนำเชือกมาพัน พร้อมติดป้ายข้อความว่า “ขอความกรุณางดใช้งาน อยู่ในขั้นตอนการตรวจรับและส่งมอบสินค้า”
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่รายหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นว่า เครื่องออกกำลังกายสแตนเลสที่นำมาติดตั้งนั้น เมื่อได้เห็นแล้วก็ดูสมราคาดี เนื่องจากเป็นวัสดุที่คงทน ทำความสะอาดง่าย และน่าจะใช้งานได้นานกว่าวัสดุประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า หากเป็นไปได้ ควรมีการติดตั้งหลังคาเพื่อป้องกันแดดและฝน รวมถึงติดตั้งไฟส่องสว่าง เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับชาวบ้านที่อาจต้องการมาออกกำลังกายในช่วงเวลาค่ำ