เกาะติดแอนแทรกซ์มุกดาหาร! ผู้ป่วยรวม 4 ราย สสจ.ชี้ ‘ดิน’ แหล่งเชื้อสงสัยสูงสุด เร่งตรวจดินริมโขงรอผลใน 4 วัน
มุกดาหาร – สถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในพื้นที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 1 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมรวมเป็น 4 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังเร่งสอบสวนและควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมคาดการณ์ต้นตอของเชื้อเบื้องต้นมาจาก ‘ดิน’
นายแพทย์ณรงค์ จันทร์แก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) มุกดาหาร เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ถึงสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ โดยผู้ป่วยรายใหม่ที่พบเป็นผู้หญิง อายุ 57 ปี ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้านี้ ปัจจุบันผู้ป่วยเข้าข่ายที่ต้องรอผลตรวจเชื้อได้หมดลงแล้ว
นพ.ณรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ติดเชื้อทั้ง 4 ราย มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ตามมือ ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้เชื้อแอนแทรกซ์เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยรายล่าสุด ที่คาดว่าเชื้ออาจเข้าทางบาดแผลจากการถูกมีดบาดขณะเตรียมเนื้อวัวเพื่อประกอบอาหาร
สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทางการได้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ปัจจุบันมีผู้ที่พ้นระยะเวลาเฝ้าระวัง 7 วันแล้วจำนวน 538 ราย เหลืออีก 98 ราย ซึ่งจะพ้นระยะเฝ้าระวังในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นี้ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นย้ำให้เฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 60 วัน โดยขอให้กลุ่มดังกล่าวสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นมือสีดำ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หายใจไม่อิ่ม หรือมีอาการไอ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที ซึ่งทาง สสจ.ได้จัดทำคิวอาร์โค้ดในแอปพลิเคชัน LINE เพื่อให้ผู้เฝ้าระวังสามารถเช็กลิสต์อาการและแจ้งข้อมูลได้สะดวก
ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาจากกรมควบคุมโรคยืนยันว่า ระยะเวลาเฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ทางผิวหนังและทางเดินอาหารที่ 7 วันนั้นเพียงพอแล้ว และยังไม่มีหลักฐานการติดเชื้อแอนแทรกซ์ทางการหายใจจนส่งผลต่อปอดในกรณีนี้
นพ.ณรงค์ กล่าวเสริมว่า หากผู้เฝ้าระวังที่เหลืออีก 98 คน พ้นระยะครบกำหนด ก็จะยิ่งมีความมั่นใจในสถานการณ์มากขึ้น ส่วนจังหวัดใกล้เคียง เช่น อำนาจเจริญ และกาฬสินธุ์ ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในแง่ของการนำเนื้อวัวจากพื้นที่ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ไปบริโภค เนื่องจากอาจมีการนำเนื้อจากงานบุญในวันเดียวกันไปรับประทาน ซึ่งได้มีการประสานงานเพื่อติดตามเฝ้าระวังแล้ว
ประเด็นสำคัญที่กำลังเร่งสอบสวนคือ ต้นตอที่แท้จริงของเชื้อแอนแทรกซ์ ณ ขณะนี้กำลังตรวจสอบจาก 2 แหล่ง เบื้องต้นจากการสอบสวนโรคในผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต คาดการณ์ว่าต้นตอของเชื้ออาจมาจาก ‘ดิน’ บริเวณโรงเชือดบ้านโคกสว่าง ซึ่งเป็นพื้นที่สวนยางพารา และการชำแหละเนื้อวัวที่ไม่ได้ใช้ภาชนะรองรับ แต่เป็นการเชือดลงบนพื้นดินโดยตรง ทำให้เนื้ออาจปนเปื้อนเศษดินที่มีเชื้ออยู่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทีมสอบสวนโรคและปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดินจากบริเวณริมแม่น้ำโขง ซึ่งเคยประสบเหตุน้ำท่วมและมีซากวัวตายลอยมาตามแม่น้ำโขง เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อแอนแทรกซ์ โดยตั้งสมมติฐานว่าเชื้ออาจมาตกตะกอนในบริเวณดังกล่าว ขณะนี้กำลังรอผลการตรวจพิสูจน์ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลที่แน่ชัดไม่เกิน 4 วัน