ครม.รับทราบ สทนช. เฝ้าระวัง 29 อ่างน้ำเกิน 80% เตือน 4 จังหวัดลุ่มน้ำชี เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน พ.ค.นี้
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2568 จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งนำเสนอโดย น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
รายงานระบุว่า สภาพอากาศในช่วงวันที่ 2 – 7 พฤษภาคม ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน แม้จะมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบางพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณฝนในตอนบนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก
สำหรับสถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 พบว่าอ่างเก็บน้ำทุกขนาดมีปริมาณน้ำรวม 45,714 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุเก็บกัก ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำในปี 2567 ถึง 1,982 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม สทนช. ได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุเก็บกัก ซึ่งมีจำนวน 29 แห่ง จากทั้งหมด 369 แห่งทั่วประเทศ โดยกระจายอยู่ในภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง ภาคตะวันออก 1 แห่ง และภาคใต้ 6 แห่ง
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย และเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และเตรียมมาตรการช่วยเหลือประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
น.ส.ศศิกานต์ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ว่า โดยรวมระดับน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าตลิ่งมาก และมีแนวโน้มทรงตัว ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหากเกิดผลกระทบ จะเร่งประสานคณะกรรมการแม่น้ำโขง และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนจิ่งหงต่อไป
รองโฆษกรัฐบาลยังได้แจ้งความคืบหน้าการเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2568 โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบมาตรการและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนแล้ว ซึ่ง สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งการตรวจสอบอุปกรณ์เตือนภัย การจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยง การทบทวนเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ และการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ
นอกจากนี้ สทนช. ยังได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างใกล้ชิด และคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 พื้นที่ลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะใน 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วม น้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน
สทนช. จึงได้จัดส่งข้อมูลพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือสถานการณ์ รวมทั้งติดตามการปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อไป