ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 2 ปี ‘ฟ้า พรหมศร’ คดี 112 รอลุ้นประกัน ยกฟ้อง ‘แอมมี่’

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีเป็นโจทก์ ฟ้องนายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ‘ฟ้า’ และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ ‘แอมมี่’ ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

คดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปราศรัยและร้องเพลงบริเวณหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 เพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว นิว สิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกจับกุมกลางดึกตามหมายจับในคดีมาตรา 112 โดยในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ ทั้งนายพรหมศรและนายไชยอมรได้เดินทางมาที่ศาลด้วยตนเอง

ย้อนกลับไปที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาว่า นายพรหมศร จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 112 และความผิดร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน จำคุก 4 ปี และปรับฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 200 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 100 บาท รวมเป็นจำคุก 2 ปี ปรับ 100 บาท

สำหรับนายไชยอมร จำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีความผิดเฉพาะฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับเงิน 200 บาท ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง ในส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอื่นนั้น ศาลยกคำขอ เนื่องจากไม่ปรากฏว่าคดีอื่นมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ และคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกลงโทษปรับเท่านั้น จึงไม่สามารถนับโทษต่อได้

หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 (นายพรหมศร) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล

ล่าสุด วันนี้ (6 พ.ค. 68) ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว มีคำพิพากษาในส่วนของนายพรหมศร จำเลยที่ 1 ว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คือมีเหตุให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำเลยที่ 1 อย่างเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข

สำหรับคำขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเป็นการแสดงออกถึงทัศนคติที่เป็นปรปักษ์ต่อสถาบันหลักของปวงชนชาวไทยและสังคมไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือมีเหตุอื่นใดตามที่อุทธรณ์มา ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ในส่วนของนายไชยอมร จำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 112 ด้วย ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหานี้หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยยกฟ้องในข้อหานี้สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ในส่วนของความผิดข้อหาร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยให้ปรับจำเลยทั้งสองคนเป็นพินัยคนละ 200 บาท แทนการปรับเป็นโทษทางอาญา หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ให้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มาตรา 30, 31

สำหรับโทษในความผิดฐานอื่นและนอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายพรหมศร หรือ ‘ฟ้า’ ยังคงต้องรอลุ้นคำสั่งประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *