ดร.สันติธาร ชี้ 5 ข้อคิดสำคัญ ฝากถึงบอร์ด AI แห่งชาติ หวังเห็นไทยใช้ AI อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
กรุงเทพฯ, 5 พฤษภาคม 2568 – ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้โพสต์ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ 5 ประการ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อฝากถึงคณะกรรมการ AI แห่งชาติของไทยที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวางยุทธศาสตร์ AI ของประเทศไทยอย่างรอบด้าน
ดร.สันติธาร ระบุว่า การที่ประเทศไทยเริ่มผลักดันยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติอย่างจริงจังถือเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะเป้าหมายที่จะนำ AI มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจไทย เพราะ AI ควรเป็นพลังเสริมในทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงในภาคเทคโนโลยีเท่านั้น ในฐานะผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ท่านได้เสนอ 5 ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
-
นโยบาย “ปัญญาประดิษฐ์” ควรมาจาก “หลากหลายปัญญามนุษย์”: ดร.สันติธาร ย้ำว่า โครงสร้างของคณะกรรมการ AI แห่งชาติควรเปิดกว้างให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มากขึ้น ทั้งภาคเอกชนที่เข้าใจบริบทการใช้งานจริง ภาควิชาการที่รู้ลึกเทคโนโลยีและประเด็นระดับโลก รวมถึงภาคประชาชนซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและแรงงานที่จะได้รับผลกระทบ ตัวอย่างที่ดีคือคณะกรรมการ AI ของอังกฤษและเกาหลีใต้ ที่มีตัวแทนจากภาคเอกชนและนักวิจัยร่วมโต๊ะตั้งแต่ต้น
-
พัฒนาไกด์ไลน์การใช้ AI รายอุตสาหกรรม: AI คือ “การปฏิวัติทางปัญญา” ไม่ใช่แค่เครื่องมือ การใช้งานโดยไม่เข้าใจบริบทอาจนำไปสู่ความเสี่ยง เช่น การลงทุนสูงแต่ใช้งานไม่ได้ การถูก AI หลอน การสร้างอคติและความเหลื่อมล้ำ หรือความเสี่ยงในงานที่มีอันตรายสูง สิ่งที่ควรทำคือการ “รีดีไซน์กระบวนการทำงาน” ให้มนุษย์และ AI ทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม โดยอาจมีการจัดทำ “AI for Industry Playbook” ร่วมกันระหว่างเอกชน รัฐ และวิชาการ ระบุสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ และควรระวัง ให้เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริง โดยอ้างอิงหลักสากลและมีการปรับปรุงอยู่เสมอ ตัวอย่างคือคู่มือ “AI Job Redesign Guide” ของสิงคโปร์
-
Reskill คนไทยให้ “พร้อมสำหรับยุค AI” ไม่ใช่แค่ “เพื่อใช้ AI”: AI กำลังเปลี่ยนลักษณะงานเกือบทุกประเภท ทั้งบทบาทและหน้าที่ ทักษะที่จำเป็นจึงเปลี่ยนไป ควรแยกให้ชัดระหว่าง “ทักษะการใช้ AI” (เช่น การเขียน Prompt, การรู้เท่าทันข้อจำกัด) และ “ทักษะมนุษย์สำหรับยุค AI” (เช่น ความคิดสร้างสรรค์, Empathy, Critical Thinking, การสื่อสาร) ทักษะมนุษย์เหล่านี้อาจยิ่งสำคัญขึ้นในอนาคต การศึกษาจึงควรสร้างคนให้พร้อมกับยุค AI ไม่ใช่แค่ใช้ AI ในการศึกษา ควรมีนโยบาย Reskilling ระดับชาติที่บ่มเพาะทั้งสองกลุ่มทักษะ และมีระบบประเมินผล สิงคโปร์มี SkillsFuture สำหรับทุกวัย ขณะที่แคนาดามีโครงการ Reskill ผู้ได้รับผลกระทบจาก AI อย่างเป็นระบบ
-
ทบทวนระบบนิเวศนวัตกรรมไทย: AI เป็นโอกาสทองในการ “แก้จุดตัน” ที่เคยเป็นอุปสรรคต่อสตาร์ทอัพไทย ควรพิจารณาว่าเราสนับสนุนการวิจัยและต่อยอดนวัตกรรมเพียงพอหรือไม่ มีแหล่งทุนที่เข้าใจธุรกิจเทคโนโลยีจริงหรือไม่ และเราดึงดูดผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้แค่ไหน นี่เป็นโอกาสในการผลักดันนโยบายที่ค้างคา เช่น การสร้าง Innovation Ecosystem ที่เชื่อมโยงกองทุน VC มหาวิทยาลัย สตาร์ทอัพ และภาครัฐ หรือการออกนโยบายเชิงรุกดึงดูด Talent ด้าน AI จากต่างประเทศ ควรเน้นสร้างนวัตกรรมที่มาจาก AI ผสานกับอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สุขภาพ Creative ท่องเที่ยว อาหาร
-
ยกระดับภาครัฐด้วย AI: การใช้ AI อย่างมียุทธศาสตร์สามารถช่วยยกระดับการบริการภาครัฐให้โปร่งใส คล่องตัว และตรวจสอบได้มากขึ้น เช่น การเปิดเผยข้อมูลที่เข้าใจง่าย การวิเคราะห์ปัญหาคอขวดในกระบวนการอนุมัติ หรือการตรวจจับความเสี่ยงการทุจริต ดร.สันติธาร กำลังศึกษาการนำ AI มาใช้ต่อยอด พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ เพื่อให้ภาครัฐเป็นแบบที่ประชาชนต้องการ
ดร.สันติธาร กล่าวทิ้งท้ายว่า ยุคของ AI มาแน่ แต่สิ่งที่ท่านอยากเห็นมากกว่าแค่ “การใช้ AI in Thailand” คือ “AI for Thailand” หรือการพัฒนาและใช้ AI อย่างปลอดภัย (safe) สร้างสรรค์ (productive) และทั่วถึง (inclusive) และเชื่อมั่นว่า “ปัญญาประดิษฐ์” จะสร้าง “ปัญญา” ได้จริง เมื่อได้รับ “ปัญญามนุษย์” จากหลากหลายวงการมาช่วยกันคิดและทำ
“หวังว่า 5 ข้อนี้จะพอเป็นประโยชน์บ้างกับคณะกรรมการ AI แห่งชาติของไทย และทุกคนที่เกี่ยวข้องครับ” ดร.สันติธาร ระบุ