DSI สอบเข้ม! วิศวกรผู้จัดการโครงการสร้างตึก สตง. 8 ชม. ชี้ปมแก้แบบปล่องลิฟต์ทุกฝ่ายรู้ ปัดตัดสินใจเดี่ยว

ความคืบหน้าการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) ได้ทำการสอบปากคำพยานคนสำคัญนานกว่า 8 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้เปิดเผยผลการสอบปากคำนายสมชาย ทรัพย์เย็น วิศวกรผู้จัดการโครงการ ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW ในฐานะผู้ควบคุมงาน ซึ่งปรากฏชื่อลงนามให้ปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) ตามแบบขยายที่ผู้ออกแบบได้ปรับแก้ โดยการสอบสวนมีขึ้นตลอดช่วงบ่ายถึงค่ำของวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนถึงเวลา 21.00 น. รวมเวลากว่า 8 ชั่วโมงเต็ม

จากคำให้การของนายสมชายในฐานะผู้จัดการโครงการ ถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการสอบสวนอย่างมาก โดยนายสมชายได้อธิบายถึงหลักการทำงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม คือ 1. เจ้าของงาน (ผู้ว่าจ้าง – สตง.) 2. ผู้ออกแบบ 3. ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ 4. ผู้ควบคุมงาน

นายสมชายชี้แจงว่า ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ควบคุมงาน ย่อมต้องมีการพูดคุยประสานงานกันอยู่แล้ว เมื่อหน้างานก่อสร้างมีปัญหาหรือข้อขัดข้องใดๆ ก็ต้องแจ้งมายังผู้ควบคุมงาน และบทบาทของผู้ควบคุมงานคือการรับจ้างทำหน้าที่ควบคุมงานให้กับผู้ว่าจ้าง

ดังนั้น การเซ็นชื่อลงนามในเอกสารการควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปรับแก้แบบอาคาร สตง. นั้น เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ตนเองไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งหมด การจะแก้ไขแบบได้ ต้องมีการตรวจพบสาเหตุที่ต้องแก้ไขก่อน เสนอตามลำดับชั้น และผู้ว่าจ้าง (สตง.) ต้องรับทราบและอนุมัติเสียก่อน จึงจะมีการก่อสร้างตามแบบที่ปรับแก้ไขให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และระหว่างการก่อสร้างก็ต้องมีการควบคุมงานให้เป็นไปตามแบบที่กำหนด

นายสมชายยังยอมรับว่า ตนเองรับทราบรายละเอียดเอกสารแก้ไขแบบทั้ง 9 ฉบับ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานที่ต้องรับรู้ในฐานะผู้จัดการโครงการ

สำหรับกรณีเฉพาะการแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) และผนังรับแรงเฉือน (Core Wall) หรือส่วนอื่นๆ ที่มีการปรับแก้ นายสมชายให้ข้อมูลว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนภายใต้สัญญาโครงการฯ ต้องรับรู้รับทราบทั้งหมด เพราะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายโดยตรง อาทิ การปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดแย้งกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน ทำให้ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ (เช่น หินแกรนิต) แล้ว ทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบราชการ จึงต้องมีการพูดคุยหารือกันหลายฝ่าย เพื่อร่วมกันพิจารณา มิใช่ใครคนใดคนหนึ่งจะตัดสินใจได้ทั้งหมด

คณะพนักงานสอบสวนฯ ยังระบุว่า นายสมชาย ในฐานะผู้จัดการโครงการ มีเอกสารที่ต้องลงนามรับรองจำนวนมาก ไม่เพียงแต่เอกสารการปรับแก้แบบ แต่ยังรวมถึงแบบรายงานการควบคุมงานก่อสร้างประจำสัปดาห์และประจำเดือน ซึ่งมีพนักงานคอยเตรียมเอกสารให้เซ็นตามปกติ

ในส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกแอบอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานตึก สตง. ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW เช่นเดียวกันนั้น นายสมชายให้การว่า ไม่เคยพบนายสมเกียรติที่ไซต์งานก่อสร้าง และบทบาทในเอกสารก็ดูแลรับผิดชอบคนละส่วน โดยนายสมชายเป็นผู้จัดการโครงการ หากมีปัญหาในระหว่างการก่อสร้างก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ

ประเด็นการถูกปลอมลายเซ็นนี้ ทำให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ 1. เจ้าของลายเซ็นที่ถูกปลอม ถือเป็นผู้เสียหาย และ 2. สตง. ในฐานะที่นิติบุคคลนำลายเซ็นดังกล่าวมาใช้ในเอกสาร ขณะนี้ การตรวจสอบเรื่องการถูกปลอมลายเซ็นของนายสมเกียรติและพยานวิศวกรรายอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการส่งตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความผิดทางคดีอาญาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากรายงานของกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) พบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการร่วมค้า PKW ได้รับงานรับเหมาช่วงในโครงการหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวคือ โรงพยาบาลตำรวจ โดยเป็นการรับเหมาช่วงมาจากบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ระดับประเทศรายหนึ่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *