ตรังเตรียมยกระดับสู่ Policy Sandbox ด้านเด็กและครอบครัว ถอดบทเรียน ‘ครอบครัวยิ้มสัญจร’ รับมือสังคมสูงวัย-ปัญหาความรุนแรง
ตรังเตรียมยกระดับสู่ Policy Sandbox ด้านเด็กและครอบครัว ถอดบทเรียน ‘ครอบครัวยิ้มสัญจร’ รับมือสังคมสูงวัย-ปัญหาความรุนแรง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน “มหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจร จ.ตรัง” ถอดบทเรียนจาก 10 พื้นที่ต้นแบบ เผยสถานการณ์สังคมสูงวัยและปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นประเด็นเร่งด่วน เตรียมยกระดับจังหวัดตรังเป็น Policy Sandbox ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกับ สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานระดับชาติ เพื่อพัฒนาระบบและกลไกส่งเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัวอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ณ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จังหวัดตรัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (สพร.) และภาคีเครือข่ายจังหวัดตรังและใกล้เคียง ได้จัดงาน “มหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจร จ.ตรัง” ภายใต้โครงการพัฒนาระบบและกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีถอดบทเรียนความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคในการสร้างระบบนิเวศสุขภาวะที่ดีสำหรับเด็ก รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวในระดับพื้นที่และจังหวัด โดยเน้นแนวคิด “ชุมชนนำ” และ “เลี้ยงเด็ก 1 คน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน”
นายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ทางสังคมของจังหวัดตรัง ปี 2566 โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง พบว่า มีการรับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว 26 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงระหว่างสามีภรรยา รองลงมาคือ ผู้ปกครองกับลูก สาเหตุหลักมาจากยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ ความรู้สึกเชิงอำนาจ ความเครียดทางเศรษฐกิจ และปัญหาสุขภาพจิต จังหวัดตรังตระหนักถึงปัญหานี้และได้ร่วมกับ สสส. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายในจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กฯ ส่งผลให้เกิดระบบคุ้มครองเด็กในระดับจังหวัด และทีมชุมชนที่เข้มแข็ง การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการแบ่งปันกระบวนการและเครื่องมือการทำงาน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้พัฒนาสุขภาวะเด็กฯ ในพื้นที่ของตน
ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สสส.) เปิดเผยข้อมูลสถิติประชากร ณ เดือนกันยายน ปี 2567 ซึ่งระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 65,969,270 คน โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 13,575,063 คน คิดเป็น 20.58% ถือว่าไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงนี้ หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี อาจนำไปสู่ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้ สอดคล้องกับสถิติจากศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปี 2567 ที่พบว่า กลุ่มเด็กเป็นผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุดถึง 1,429 ราย ทั้งการถูกทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ และการถูกทอดทิ้ง ในขณะที่อัตราการเกิดลดต่ำลง สังคมจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของเด็กทุกคน
น.ส.ณัฐยา กล่าวเสริมว่า สสส. และ สพร. ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการพัฒนาระบบและกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ โดยใช้แนวคิด “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” และ “ชุมชนนำ” ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ที่ผ่านมา จังหวัดตรังได้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ต้นแบบ 10 แห่ง ส่งผลให้เด็กและครอบครัวได้รับประโยชน์ถึง 9,835 คน มี 82 คนได้รับการช่วยเหลือจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น และความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นถึง 47.95% เกิดคณะทำงานพัฒนาสุขภาวะเด็กฯ ระดับจังหวัด และมีระบบฐานข้อมูลที่เป็นระบบ
สำหรับก้าวต่อไป เตรียมขยายผลโมเดลนี้ให้ครอบคลุม 87 ตำบล ใน 10 อำเภอของจังหวัดตรัง พร้อมยกระดับจังหวัดตรังสู่การเป็นพื้นที่นำร่อง Policy Sandbox ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อมุ่งพัฒนาแผนงานที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และส่งเสริมสุขภาวะเด็กอย่างยั่งยืนภายในปี 2568
นางนงนุช จิตตะเสโณ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง กล่าวว่า งานมหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจรนี้ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี สุรินทร์ เลย ลำปาง พะเยา และตรัง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ระดมความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สนับสนุนทรัพยากรให้ครอบครัวสามารถเลี้ยงดูเด็กได้ดีขึ้น และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้และมีส่วนร่วมอย่างมีคุณค่า
ด้านนายอุดมศักดิ์ ปริวัตรพันธ์ นักพัฒนาชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 พื้นที่นำร่อง กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ว่า มี 3 ด้านหลัก คือ 1. จัดตั้งคณะทำงานพัฒนาสุขภาวะเด็กฯ ระดับหมู่บ้าน เพื่อการทำงานที่เชื่อมโยง 2. พัฒนาศักยภาพคณะทำงานฯ ให้มีความสามารถดูแลเด็กในพื้นที่ และ 3. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อเก็บข้อมูลสถานการณ์เด็ก โดยแบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว (ไม่น่ากังวล) กลุ่มสีเหลือง (เริ่มน่ากังวล เช่น ผู้ปกครองติดยาเสพติด/พนัน/แอลกอฮอล์ แต่ยังไม่กระทบเด็ก) และกลุ่มสีแดง (ผู้ปกครองดูแลไม่ได้ มีความรุนแรงในครอบครัว) คณะทำงานฯ จะนำข้อมูลนี้ไปออกแบบกิจกรรมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป