ถอดบทเรียน ‘ไฟดับใหญ่’ สเปน-โปรตุเกสกว่า 10 ชม. ผู้เชี่ยวชาญชี้เหตุ ‘พลังงานหมุนเวียน’ เตือนไทยต้องมี ‘โรงไฟฟ้ามั่นคง’ สำรอง
จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่กินเวลานานกว่า 10 ชั่วโมงในประเทศสเปนและโปรตุเกสเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งภาคครัวเรือน โรงพยาบาล สถานศึกษา การคมนาคม และภาคธุรกิจ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ล่าสุด นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งปัจจุบันผันตัวเป็นนักธุรกิจพลังงานสะอาด ได้ออกมาแสดงความเห็นและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568
นายตรีรัตน์ ระบุว่า เหตุการณ์ไฟดับครั้งนี้เกิดขึ้นจากปัญหาการขาดแคลน ‘โรงไฟฟ้ามั่นคง’ ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองไม่เพียงพอ โดยอธิบายว่า สเปนและโปรตุเกสเป็นสองประเทศในยุโรปที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกสูงมากถึง 60 กิกะวัตต์ (GW) ประกอบด้วยพลังงานลม 27 GW และพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) 18 GW แม้พลังงานทางเลือกจะเป็นสิ่งที่ดีในแง่ของการลดโลกร้อนและต้นทุนที่ถูกลง แต่ก็มาพร้อมกับข้อจำกัดสำคัญคือ ‘ความไม่มั่นคง’ หรือ ‘ความไม่เสถียร’ เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า ‘Act of God’
พลังงานหมุนเวียนกับความไม่เสถียร
นายตรีรัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า พลังงานแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพสูงสุดเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนพลังงานลมก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ดังนั้น ประเทศที่ใช้พลังงานทางเลือกในสัดส่วนสูงจำเป็นต้องมี ‘Backup Power’ หรือโรงไฟฟ้าสำรองที่มั่นคงและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนลดลงอย่างรวดเร็ว หากกำลังการผลิตรวมน้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่โรงไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาไฟดับได้
เกิดอะไรขึ้นที่สเปนและโปรตุเกส?
ตามรายงานของสำนักข่าว Reuters ก่อนเกิดเหตุไฟฟ้าดับ ระบบไฟฟ้าของสเปนพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 59% พลังงานลม 12% พลังงานนิวเคลียร์ 11% และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติชนิดวงจรผสม (CCGT) 5% ซึ่งดูเหมือนจะปกติ แต่ภายในระยะเวลาเพียง 5 นาที กำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) ได้ร่วงลงอย่างน่าตกใจกว่า 50% จาก 18 GW เหลือเพียง 8 GW โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
เหตุการณ์นี้ทำให้โรงไฟฟ้าสำรองจำเป็นต้องเร่งเดินเครื่อง แต่ด้วยความโชคร้ายที่กำลังการผลิตสำรองจากแหล่งพลังงานมั่นคง เช่น ก๊าซ นิวเคลียร์ หรือเขื่อน ในสเปนและโปรตุเกสมีไม่เพียงพอที่จะชดเชยกำลังผลิตจากโซลาร์ที่หายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ความถี่ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าตกลงจากระดับปกติ 50 เฮิรตซ์ (Hz) เหลือ 49.85 Hz ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ระบบป้องกันของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ทั่วประเทศทยอยปลดตัวเองออกจากระบบโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างและยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง สร้างความโกลาหลให้กับประชาชนที่ไม่เคยประสบเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน
ประเทศไทยมีโอกาสเกิดเหตุการณ์เช่นนี้หรือไม่? และถอดบทเรียนอย่างไร?
นายตรีรัตน์ มองว่า สำหรับประเทศไทย สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญกับความมั่นคงของระบบพลังงานเป็นอันดับแรก และมีระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรประมาท เพราะในอนาคต ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การใช้พลังงานทางเลือกในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีในการลดต้นทุนพลังงาน แต่ก็ต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการแหล่งพลังงานผลิตไฟฟ้าของประเทศให้สมดุล
บทเรียนจากสเปนและโปรตุเกสชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกเป็นสิ่งที่ดี แต่หากโรงไฟฟ้าเสถียรหรือ Backup Power มีไม่เพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง (Act of God) ที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนหายไปจากระบบอย่างฉับพลัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้าและทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟดับรุนแรงได้ ดังนั้น การสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าควบคู่ไปกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้