กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผนึก อ.ส.ค. เข้าช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ‘แม่ทา’ แก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นคลัง หลังเอกชนปฏิเสธรับซื้อผิด MOU

ลำพูน – นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) เปิดเผยถึงกรณี สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด จังหวัดลำพูน ประสบปัญหาน้ำนมดิบล้นคลัง เนื่องจากบริษัทเอกชนคู่สัญญาปฏิเสธการรับซื้อน้ำนมดิบ ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลง (MOU) ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ได้รับความเดือดร้อนหนัก มีปริมาณน้ำนมดิบค้างถังสะสมจำนวนมาก และบางรายถึงขั้นต้องเทน้ำนมดิบทิ้ง

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดลำพูนเร่งเข้าไปแก้ปัญหาและวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำนมดิบอย่างเป็นระบบทันที เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายน้ำนมดิบได้มากที่สุด

มาตรการเร่งด่วนที่ดำเนินการคือ การประสานขอความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ให้เข้ามารับซื้อน้ำนมดิบทั้งหมดจากสหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นนมกล่อง UHT ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการในตลาด จากนั้นจะให้สหกรณ์นำนมกล่อง UHT ที่ผลิตเสร็จกลับไปจำหน่าย เพื่อเป็นการระบายปริมาณน้ำนมดิบและช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนระยะต่อไปในการนำน้ำนมดิบส่วนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นนมผง ซึ่งจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำนมดิบได้นานขึ้น โดยเฉพาะสำหรับสหกรณ์ที่มีโรงงานแปรรูปนมผงเป็นของตนเอง กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุน โดยจัดสรรเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์เข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมรายอื่นๆ ให้เข้ามารับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่

สำหรับกรณีที่บริษัทเอกชนคู่สัญญาอ้างว่า การที่ปฏิเสธรับซื้อน้ำนมดิบนั้น เป็นเพราะกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับซื้อน้ำนมโค ทำให้บริษัทไม่สามารถรับซื้อน้ำนมจากสหกรณ์ตาม MOU ได้นั้น นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารนมทั้งระบบ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ประเด็นที่บริษัทเอกชนมีความกังวลดังกล่าวนั้น คาดว่าเป็นหลักเกณฑ์ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน สำหรับปีการศึกษา 2568 ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาและดำเนินการ ยังไม่มีการบังคับใช้แต่อย่างใด

ดังนั้น การที่บริษัทเอกชนปฏิเสธการรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด ในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดทำบันทึกข้อตกลง MOU ที่กำหนดไว้ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวระบุชัดเจนว่า หากผู้ซื้อและผู้ขายประสงค์จะขอยกเลิก MOU จะต้องทำหนังสือยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และจะต้องจัดหาผู้ซื้อรายใหม่เข้ามารับผิดชอบรับซื้อน้ำนมดิบของเกษตรกรให้ครบตลอดระยะเวลา 365 วัน พร้อมทั้งต้องแจ้งเหตุผลประกอบการขอยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ซึ่งกรณีที่เกิดการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน MOU เช่นนี้ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ สามารถดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ทันที เพื่อปกป้องสิทธิ์และผลประโยชน์ของเกษตรกรสมาชิก.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *