“อนุทิน” สั่งเร่งแก้ปัญหาไร้สัญชาติ ผนึกกำลังทุกฝ่าย ลดขั้นตอนเหลือ 5 วัน ตั้งเป้าให้สถานะกว่า 4 แสนคน
“อนุทิน” มอบนโยบายผนึกกำลังปกครอง-มั่นคง เดินหน้าแก้ปัญหาไร้สัญชาติ ตั้งเป้าลดขั้นตอนทำงาน มอบสถานะบุคคลหวังลดปัญหาค้ามนุษย์ อาชญากรรมทุกรูปแบบ
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบนโยบายและสัมมนาตามโครงการเร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง พล.ต.ต. ชัชชัย วงค์สุนะ รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ นางแทมมี่ ลินน์ ชาร์ป (Tammi Lynn Sharpe) ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ตลอดจนคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และนายอำเภอ 878 อำเภอ ร่วมประชุม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวเน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งมั่นสร้างโอกาสแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่บุคคลกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นไปตามสิทธิที่พึงจะได้รับตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไว้กับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยปฏิญญาดังกล่าวได้ระบุสิทธิอันสำคัญคือสิทธิที่จะมีสัญชาติ
“หลักใหญ่ใจความที่เราจะต้องไม่ลืม คือเมื่อบุคคลใดอยู่ในโลกนี้โดยปราศจากการมีสถานะ ก็เท่ากับเขาถูกลิดรอนสิทธิในการจะมีชีวิตในฐานะมนุษย์ ที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการเดินทาง การได้รับการดูแลคุ้มครองจากรัฐ หรือแม้แต่สิทธิในการทำงาน” นายอนุทิน กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ปัญหาการไม่มีสัญชาติและสถานะบุคคลนำไปสู่การขาดโอกาส การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ทำให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวตกอยู่ในสภาวะเปราะบางและมีความเสี่ยงในการดำรงชีวิตอย่างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงอื่นๆ ได้แก่ การค้ามนุษย์และอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ
“ดังนั้น การเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในมิติทางมนุษยธรรม มิติความมั่นคง และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เป็นการแสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าของประเทศไทยในการจัดการกับภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยความร่วมมือกับภาคีระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น UNHCR ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยบนเวทีในระดับนานาชาติด้วย”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้กล่าวเน้นย้ำถึงผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ว่า “ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอทุกท่าน ได้เป็นผู้นำในการศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการทำงานในขั้นตอนใหม่ตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด ที่ให้ลดระยะเวลากระบวนการทำงานจาก 270 วันเหลือเพียง 5 วัน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ต้องได้รับความร่วมมือและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน มั่นใจว่าไม่เกินความสามารถของทุกท่านร่วมกันแก้ไขให้กลุ่มเป้าหมายได้รับชีวิตใหม่ ได้เข้าถึงโอกาสและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยมีสิทธิที่พึงมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”
ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ประเทศไทยยังมีบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 รวมทั้งสิ้นกว่า 400,000 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ซึ่งมีจำนวนประมาณกว่า 300,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ซึ่งมีจำนวนประมาณกว่า 100,000 คน
นายไชยวัฒน์ ย้ำว่า บุคคลกลุ่มนี้ล้วนมีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ จะต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้สำเร็จตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด
การเร่งรัดกระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้บุคคลกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม และลดความเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และอาชญากรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและส่งเสริมความมั่นคงของประเทศในภาพรวม