วิโรจน์ แฉ! สรรพากรดึงเรื่อง ตั๋วพีเอ็น ‘แพทองธาร’ เข้าข่ายเลี่ยงภาษี ไร้กำหนดเสร็จ กมธ.เศรษฐกิจ จี้ รมว.คลัง ตั้ง กก.วินิจฉัยด่วน ขู่ฟ้องละเว้นฯ
รัฐสภา, 1 พฤษภาคม 2567 – นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เปิดเผยภายหลังเข้าประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำธุรกรรมและการชำระภาษีเกี่ยวกับการซื้อหุ้นมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาทของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจเข้าข่ายหลบเลี่ยงภาษีจากการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว P/N) ว่า กรมสรรพากรยังคงอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด โดยอ้างว่ามีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้คือ การไม่มาชี้แจงของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ในการประชุม กมธ.ฯ วันนี้ พบข้อมูลที่น่าตกใจคือ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบเรื่องนี้ ยังมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วน เนื่องจากขาดกรรมการส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิถึง 3 คน การแต่งตั้งกรรมการส่วนนี้เป็นอำนาจโดยตรงของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงเตรียมทำหนังสือถึงนายพิชัย เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการส่วนผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวโดยพลัน แม้กมธ.ฯ จะไม่ได้กำหนดกรอบเวลาตายตัว แต่ชี้ว่าการดำเนินการโดยชอบควรทำอย่างรวดเร็ว หากมีการดึงเรื่องให้ล่าช้า อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
นายวิโรจน์ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีการออกตั๋ว P/N ในการซื้อหุ้นจากคนในครอบครัวและเครือญาติของ น.ส.แพทองธาร โดยผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลาง กรมสรรพากร ซึ่งเข้าชี้แจงแทนอธิบดี ยอมรับว่าเรื่องนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริง แต่ไม่มีคำตอบว่าจะเสร็จเมื่อใด อ้างว่าติดปัญหาบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่มาชี้แจง ซึ่งตามขั้นตอน สรรพากรจะให้เวลาชี้แจง 15 วัน และสามารถต่อเวลาได้อีก 15 วัน การตรวจสอบนี้อยู่ในอำนาจของกองตรวจสอบภาษีกลาง และเมื่อเสร็จสิ้น จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณาต่อไป
สำหรับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ร่วมชี้แจงด้วย ให้ข้อมูลกับ กมธ.ฯ ว่า ไม่มีอำนาจตรวจสอบบุคคล แต่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายและการจัดเก็บรายได้ สตง. รับทราบว่าประเด็นตั๋ว P/N ยังไม่มีระเบียบหรือกติกาที่ชัดเจนในการปฏิบัติงาน ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงรูปแบบของนิติกรรมอำพราง
นายวิโรจน์ ระบุว่า สตง. มีอำนาจตามมาตรา 85 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ในการส่งความเห็นไปยังกรมสรรพากร ให้ดำเนินการออกระเบียบและแนวปฏิบัติงานเพื่อป้องกันความเสียหาย รวมถึงเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีการรับให้จากการออกตั๋ว P/N ได้อย่างเป็นธรรมและเสมอภาค
“กรณีของนายกฯ ที่อาจบอกว่าเป็นการวางแผนภาษี แต่หากประชาชนคนอื่นเขาทำรูปแบบเดียวกัน กรมสรรพากรต้องให้สิทธิประชาชนคนอื่นทำด้วย ไม่ใช่ไล่บี้คนอื่นแต่นายกฯ กลับเพิกเฉย นอกจากนั้นแล้ว ผมมองว่าเมื่อมีช่องว่างให้ทำ แต่นายกฯ ควรปิดช่องว่างที่จะทำให้ตนเองได้ประโยชน์” นายวิโรจน์ กล่าวย้ำ
นายวิโรจน์ เผยว่า กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ เตรียมส่งหนังสือถึงนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ โดยเฉพาะกรณีของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน ไม่ใช่การเตะถ่วง
“กมธ.มีข้อเตือนใจไปยังข้าราชการที่ต้องทำหน้าที่ด้วยว่า มีประเด็นที่เคยเกิดขึ้นกับ นางเบญจา หลุยเจริญ เมื่อครั้งทำหน้าที่ในกรมสรรพากรถูกพิพากษาจำคุกในคดีวินิจฉัยภาษีซื้อหุ้น และถูกลงโทษทั้งคดีอาญา และจำคุก หากทำหน้าที่ปกป้องสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกรณีที่ตรวจสอบ น.ส.แพทองธารนั้น หากฝ่ายที่เเกี่ยวข้องประวิงเวลา อาจเท่ากับส่งสัญญาณปกป้อง หรือดึงเรื่องตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ซึ่งอาจถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ต่อไป” นายวิโรจน์ เตือนทิ้งท้าย