สธ. ยืนยันพบผู้เสียชีวิต ‘โรคแอนแทรกซ์’ ที่มุกดาหาร เร่งสอบสวนผู้สัมผัสกว่า 200 คน คาดต้นเหตุจากเนื้อวัวงานบุญ
สธ. ยืนยันพบผู้เสียชีวิต ‘โรคแอนแทรกซ์’ ที่มุกดาหาร เร่งสอบสวนผู้สัมผัสกว่า 200 คน คาดต้นเหตุจากเนื้อวัวงานบุญ
กระทรวงสาธารณสุขยืนยันกรณีพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ 1 ราย ที่จังหวัดมุกดาหาร โดยคาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการสัมผัสและบริโภคเนื้อวัวดิบในงานบุญ เร่งติดตามและให้ยาแก่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 200 คน พร้อมเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง เน้นบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก 100%
จากกรณีที่ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ หมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์เตือนภัยถึงการพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ในพื้นที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 โดยมีประวัติสัมผัสวัว ควาย และล่าสุดมีการบริโภคเนื้อวัวดิบในงานบุญฯ
ล่าสุด นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ได้รับรายงานการพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) จำนวน 1 ราย ในจังหวัดมุกดาหารจริง ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 53 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน อาชีพรับจ้างก่อสร้าง เริ่มมีอาการตุ่มแผลขึ้นบริเวณมือข้างขวาตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2568 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 ด้วยอาการแผลที่มือเริ่มมีสีดำชัดเจนขึ้น มีต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ข้างขวาโต และมีอาการหน้ามืด ชักเกร็ง ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นพ.ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า ขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา แพทย์ได้สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งผลการตรวจพบเชื้อ Bacillus anthracis
จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น คาดว่าปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อในผู้ป่วยรายนี้ มาจากการชำแหละโคในงานบุญผ้าป่า และมีการนำเนื้อโคที่ชำแหละไปแจกจ่ายให้รับประทานกันภายในหมู่บ้าน ซึ่งรวมถึงการบริโภคเนื้อดิบด้วย
ขณะนี้ ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคของกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับทีมสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทีมปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคเชิงลึก พบผู้สัมผัสกับผู้ป่วยหรือมีประวัติบริโภคเนื้อโคในงานดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 247 คน แบ่งเป็นผู้ที่ร่วมชำแหละโค 28 คน และผู้ที่บริโภคเนื้อโคดิบ 219 คน โดยขณะนี้ได้ให้ยาป้องกันโรคในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่
ทำความรู้จักโรคแอนแทรกซ์ และการป้องกัน
ข้อมูลจาก หมอแล็บแพนด้า ระบุว่า โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียชื่อ ‘บาซิลลัส แอนทราซิส‘ (Bacillus anthracis) แบคทีเรียชนิดนี้มีความพิเศษคือสามารถสร้างสปอร์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้สูงมาก และสามารถมีชีวิตอยู่ในดิน พืชผัก หรือซากสัตว์ที่ปนเปื้อนสปอร์ได้นานเป็นสิบปี
เชื้อแอนแทรกซ์สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 3 ทางหลัก ดังนี้:
- แอนแทรกซ์ผิวหนัง (Cutaneous Anthrax): เกิดจากการสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อทางบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนัง มักพบบ่อยที่สุด
- แอนแทรกซ์ระบบหายใจ (Inhalational Anthrax): เกิดจากการสูดดมสปอร์ของเชื้อเข้าไป มักพบในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ขนสัตว์ หนังสัตว์ เป็นชนิดที่รุนแรงที่สุดและมีอัตราการเสียชีวิตสูง
- แอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Anthrax): เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อและปรุงไม่สุก มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
เพื่อป้องกันตนเองและลดความเสี่ยงในการติดโรคแอนแทรกซ์ ควรปฏิบัติดังนี้:
- เน้นการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก 100%
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส การชำแหละ หรือนำซากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุไปบริโภค
- หากพบเห็นสัตว์ตายผิดปกติในพื้นที่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ และ รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหารได้ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ และสั่งงดการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบในพื้นที่ เพื่อควบคุมสถานการณ์แล้ว