กองทัพบก ยันไร้ปฏิบัติการ IO ‘วินธัย’ รับแค่ ‘ติดตามผู้เห็นต่าง’ หวังชี้แจง หลัง กมธ.ฯ ชี้ใช้เครื่องมือผิดประเภท
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation หรือ IO) ทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.ฯ กล่าวเปิดประเด็นถึงปัญหาปฏิบัติการ IO ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการใช้ IO ต่อประชาชน นักวิชาการ และนักการเมือง และแม้จะมีรัฐบาลพลเรือนแล้ว แต่กลับพบว่าปฏิบัติการ IO ยังคงอยู่และรุนแรงกว่าเดิม นายรังสิมันต์ แสดงความกังวลว่า IO เหล่านี้เต็มไปด้วยเฟคนิวส์ สร้างความเกลียดชังและความแตกแยก ซึ่งขัดต่ออุดมการณ์ของกองทัพและทหารไทย
นายรังสิมันต์ ย้ำว่า การใช้เครื่องมือ IO ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในสงครามกับรัฐอื่น แต่กลับนำมาใช้กับคนในประเทศราวกับเป็นศัตรู เป็นเรื่องที่รับไม่ได้และทำลายความมั่นคงของชาติเสียเอง เขาชี้ว่า การที่สภาฯ ไม่ไว้วางใจให้ใช้เครื่องมือลักษณะนี้ ทำให้เครื่องมือเหล่านั้นไม่สามารถนำไปจัดการกับภัยคุกคามที่แท้จริง เช่น พ่อค้ายาเสพติดได้ เพราะถูกใช้ผิดประเภท
ในส่วนของการชี้แจงต่อ กมธ.ฯ หน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้ง กอ.รมน., กระทรวงกลาโหม, กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่างยืนยันว่าไม่มีนโยบายทำปฏิบัติการ IO แต่เป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงาน การป้องกันประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน
พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เป็นตัวแทนชี้แจงว่า กองทัพบกไม่มีการทำ IO แต่คำนี้เป็นคำที่ใช้ในปฏิบัติการทางทหารทั่วโลกเพื่อสื่อสารในการรบ สำหรับในประเทศไทย กองทัพนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและแก้ไขสิ่งที่เข้าใจผิด โดยเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีขององค์กร ซึ่งเป็นการกระทำโดยเปิดเผยและมีเป้าหมายคือประชาชน พล.ต.วินธัย กล่าวว่า กองทัพไม่ได้มองว่าความเข้าใจผิดเป็นเรื่องเลวร้าย แต่เป็นโอกาสให้ได้ชี้แจง โดยไม่มีลักษณะก้าวร้าว หรือสร้างสิ่งที่ไม่ดีต่อกัน จึงไม่เรียกว่าปฏิบัติการ IO แต่เป็นการสร้างความเข้าใจหรือประชาสัมพันธ์
พล.ต.วินธัย ยอมรับว่า ในการสื่อสารออนไลน์ หากพบข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม ก็มีขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการหมิ่นประมาท โดยมีเป้าหมายคือบุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งอาจรวมถึงนักการเมืองหรือนักวิชาการด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สังคมให้ความสนใจ เขาชี้แจงว่าการติดตามจากกองทัพไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะจะต่อสู้กันด้วยข้อเท็จจริง
โฆษกกองทัพบก กล่าวยอมรับตรงๆ ว่า เป้าหมายอีกกลุ่มคือผู้ที่มีทัศนคติไม่ดีกับทหาร โดยต้องการให้สังคมรับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง และย้ำว่าไม่ได้โกรธหรือตั้งตัวเป็นคู่ขัดแย้ง เขายังยอมรับว่ากองทัพบกใช้อินฟลูเอนเซอร์ในช่องทางออนไลน์ แต่ทำในลักษณะเปิดเผย
ส่วนประเด็นเพจที่ออกมาโจมตีนักการเมืองและมีการแอบอ้างว่าเป็นทหารหรือหน่วยงานด้านความมั่นคง พล.ต.วินธัย ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่ใช่หน่วยงานของกองทัพ และท้าให้หากพบเหตุการณ์ในลักษณะนั้น ให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ทันที