ช็อก! เด็กมือบอนทำลายภาพวาด มาร์ก รอธโก มูลค่า 1.9 พันล้านบาท ในเนเธอร์แลนด์
รอตเทอร์ดาม, เนเธอร์แลนด์ – เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังจากมีรายงานว่าภาพวาดเชิงนามธรรมอันทรงคุณค่าของ มาร์ก รอธโก ศิลปินชาวลัตเวีย-อเมริกัน มูลค่าสูงถึง 50 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,900 ล้านบาท ถูกทำลายโดยเด็กคนหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะบอยมันส์ ฟาน บัวนิงเงิน ในเมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์
โฆษกของพิพิธภัณฑ์ยืนยันว่า ภาพวาดที่ได้รับความเสียหายคือผลงานชื่อ “สีเทา, สีส้มบนสีมารูน, หมายเลข 8” (Grey, Orange on Maroon, No. 8) ซึ่งเป็นภาพวาดบนผืนผ้าใบที่รอธโกสร้างสรรค์ขึ้น ความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์บริเวณใกล้เคียง
ลักษณะความเสียหายที่พบเป็นรอยขีดข่วนขนาดเล็กที่มองเห็นได้บนชั้นสี ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้มีการเคลือบเงา อยู่บริเวณด้านล่างของภาพวาด ขณะนี้ทางพิพิธภัณฑ์กำลังเร่งตามหาผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานศิลปะทั้งในประเทศเนเธอร์แลนด์และต่างประเทศ เพื่อประเมินและค้นคว้าหาวิธีการบูรณะภาพอย่างละเอียด โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำงานชิ้นเอกนี้กลับมาจัดแสดงสู่สาธารณชนได้อีกครั้งในอนาคต
น.ส.โซฟี แมคอลูนี ผู้จัดการฝ่ายอนุรักษ์ของบริษัทไฟน์ อาร์ต รีสโตเรชัน (Fine Art Restoration Company) ให้ข้อมูลว่า ภาพวาดสมัยใหม่หลายชิ้นที่ไม่ได้เคลือบน้ำยาวานิชเพื่อเพิ่มความคงทน โดยเฉพาะผลงานอย่างภาพ “สีเทา, สีส้มบนสีมารูน, หมายเลข 8” ของรอธโก มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอยู่แล้ว
เธอกล่าวเสริมว่า ภาพวาดเหล่านี้มักใช้วัสดุที่ซับซ้อนและทันสมัยผสมผสานเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังไม่ได้มีการเคลือบเงาเหมือนภาพวาดแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ การที่รอธโกมักใช้สีสันเข้มข้นระบายเกือบเต็มพื้นที่ของผืนผ้าใบ ทำให้แม้เพียงรอยขีดข่วนเล็กน้อยก็สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของผู้ชมได้
นายจอนนี เฮล์ม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทพลาวเดน แอนด์ สมิธ (Plowden & Smith) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซ่อมแซมงานศิลปะ ระบุว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้หอศิลปะหลายแห่งในสหราชอาณาจักร เช่น วี แอนด์ เอ (V&A) และบริติช มิวเซียม (British Museum) ซึ่งกำลังพิจารณาจะนำผลงานศิลปะจากคลังมาจัดแสดง ต้องกลับมาทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยและนโยบายในการจัดแสดงอีกครั้ง
สำหรับกระบวนการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาพวาดของรอธโกนั้น นายเฮล์มยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเม็ดสี เรซิน และกาวที่ใช้ผสมกันมีความซับซ้อนเป็นพิเศษ การที่ภาพนี้ไม่ได้เคลือบเงา ยิ่งเพิ่มความยากลำบากให้กับนักอนุรักษ์ นักอนุรักษ์ผลงานศิลปะจึงต้องศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องและค้นคว้าหาวิธีการซ่อมแซมที่เคยประสบความสำเร็จกับผลงานชิ้นอื่นๆ ของรอธโก
ทั้งนี้ เคยมีกรณีที่ผลงานของ มาร์ก รอธโก ได้รับความเสียหายมาก่อน โดยในปี 2555 ภาพผลงาน “สีดำบนสีมารูน” (Black on Maroon) ซึ่งสร้างสรรค์ในปี 2501 และไม่ได้เคลือบวานิชเช่นกัน ถูก นายวอดซิเมียซ อูมาเนียก (Włodzimierz Umaniec) เจตนาทำลายที่หอศิลป์เทท โมเดิร์น (Tate Modern) ในกรุงลอนดอน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หนุ่มมือบอนต้องโทษจำคุก 2 ปี และต่อมาได้แสดงความสำนึกผิด
ระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อปี 2555 นายเกรเกอร์ แม็คคินลีย์ ทนายความฝ่ายจำเลย ประมาณการค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมผลงานชิ้นนั้นไว้ที่ประมาณ 200,000 ปอนด์ หรือราว 9 ล้านบาท และคาดว่านักอนุรักษ์ต้องใช้เวลาถึง 18 เดือนในการซ่อมแซม
ด้าน น.ส.ราเชล เมอร์เทิล หัวหน้าฝ่ายทรัพย์สินมีค่าและงานวิจิตรศิลป์จากบริษัทประกันภัยเอออน (Aon) ให้ข้อมูลว่า นโยบายประกันภัยสำหรับงานวิจิตรศิลป์โดยทั่วไปครอบคลุมความเสี่ยงทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นกับสภาพทางกายภาพของงานศิลปะ ซึ่งรวมถึงความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเด็กหรือผู้ชมอยู่แล้ว
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความเสียหายกับงานศิลปะ ทางบริษัทประกันจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบ พร้อมกับพิจารณาหลักฐานอื่นๆ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อระบุสาเหตุที่แท้จริงและร่วมกันหาแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ พิพิธภัณฑ์บอยมันส์ ฟาน บัวนิงเงิน ยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมภาพวาดของรอธโก ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้ซื้อมาเก็บสะสมไว้นานกว่า 50 ปีแล้ว
ในอดีต พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยมีนโยบายเรียกเก็บเงินจากผู้เข้าชมที่ทำให้งานศิลปะเสียหาย ตามกระบวนการปกติที่ใช้ในขณะนั้น เช่นในปี 2554 นักท่องเที่ยวรายหนึ่งต้องชดใช้ค่าซ่อมแซมหลังจากเผลอเหยียบผลงานชื่อ “พินดาคัสฟลู” (Pindakasvlo) ของ วิม ที. ชิปเปอร์ส (Wim T. Schippers) ซึ่งเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากการทาเนยถั่วบนพื้น
ภาพวาด “สีเทา, สีส้มบนสีมารูน, หมายเลข 8” ของ มาร์ก รอธโก ถือเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะสมัยใหม่หลายชิ้นที่ได้รับความเสียหายในประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ตัวอย่างอื่นๆ เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ภาพพิมพ์สกรีนจำนวนมากของ แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ศิลปินป๊อปอาร์ตชื่อดังชาวอเมริกัน ได้รับความเสียหายระหว่างถูกขโมยไปจากหอศิลป์เอ็มพีวี (MPV Gallery) ในเมืองออยสเตอร์ไวก์ ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์
อีกเหตุการณ์ที่เกือบสร้างความเสียหายใหญ่หลวง คือการที่เจ้าหน้าที่ศาลากลางเนเธอร์แลนด์เกือบเผลอทิ้งภาพพิมพ์ 46 ชิ้นของ แอนดี วอร์ฮอล ไปอย่างไม่ตั้งใจ ในระหว่างการปรับปรุงอาคาร ซึ่งรวมถึงภาพเหมือนของอดีตสมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ด้วย
สำหรับนโยบายการรับมือกับความเสียหายที่เกิดจากเด็กนั้น พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งมีความแตกต่างกันไป เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่พิพิธภัณฑ์เฮชต์ (Hecht Museum) ประเทศอิสราเอล เด็กชายวัย 4 ขวบ ทำโถโบราณอายุ 3,500 ปีแตกเป็นชิ้นๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงและเข้าใจว่าเป็นการกระทำโดยไม่ได้เจตนา อีกทั้งยังได้เชิญให้ครอบครัวของเด็กกลับมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อีกครั้งในภายหลัง