ปั้น ‘กะเพรา’ สู่ดาวเด่นวงการเวชสำอางโลก! ARDA-สวทช. วิจัยสำเร็จ เพิ่มสารสำคัญ 115% ไร้สารปนเปื้อน

กรุงเทพฯ – จากพืชเครื่องเทศคู่ครัวไทย สู่พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงสำหรับอุตสาหกรรมความงามระดับโลก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA ร่วมกับ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิต ‘กะเพรา’ ด้วยเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณสารสำคัญ ‘เมทิลยูจีนอล’ และ ‘เทอร์พีนอยด์’ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมเวชสำอาง สำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ลดสิว และชะลอวัย

เดิมที การสกัดสารสำคัญจากกะเพราประสบปัญหาเรื่องปริมาณสารสำคัญต่ำ ต้องใช้ใบกะเพราจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนสูง และยังมีความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนัก ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์และความปลอดภัยของวัตถุดิบ

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ ARDA กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีศักยภาพสูง โดยเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกกว่า 2,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการมองเห็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย และผลักดันให้เป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมสำหรับตลาดเครื่องสำอางกลุ่ม Anti-aging จากธรรมชาติที่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก

โครงการวิจัย ‘การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกะเพราระดับอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณสาร Methyl Eugenol สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเวชสำอาง’ ซึ่ง ARDA สนับสนุนทุนวิจัยแก่ สวทช. ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบกระบวนการผลิตกะเพราในระบบ Plant Factory แบบครบวงจร ระบบปิดที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมได้อย่างแม่นยำ เช่น น้ำ อาหาร แสง อุณหภูมิ และความชื้น

น.ส.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยไบโอเทค สวทช. หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายถึงเทคนิคที่ใช้ในการกระตุ้นให้กะเพราผลิตสาร Methyl Eugenol ได้ในปริมาณสูงขึ้น ประกอบด้วย การควบคุมระดับน้ำเพื่อสร้างภาวะเครียด, การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม โดยพบว่าการควบคุมอุณหภูมิที่ 18 ํC ก่อนเก็บเกี่ยว 6 วัน ให้ผลดีที่สุด และการใช้สารละลาย Methyl Jasmonate ช่วยกระตุ้นการสร้างสารออกฤทธิ์

ผลการวิจัยเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง สามารถเพิ่มปริมาณสาร Methyl Eugenol ในกะเพราที่ปลูกในระบบ Plant Factory ได้สูงถึง 1,176.80 ไมโครกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง จากเดิม 546.7 ไมโครกรัม เพิ่มขึ้นกว่า 115% ขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 2-3% เท่านั้น ที่สำคัญคือ ผลผลิตที่ได้มีความบริสุทธิ์สูง ปลอดการปนเปื้อนจากสารเคมีและโลหะหนัก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

นายวิชาญ กล่าวเน้นย้ำว่า งานวิจัยนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย จากพืชเครื่องเทศสู่พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต ด้วยศักยภาพของ Plant Factory ในการปลูกพืชคุณภาพสูง ควบคุมได้ ไร้สารปนเปื้อน และให้สารออกฤทธิ์เข้มข้น ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเครื่องสำอางที่ต้องการวัตถุดิบธรรมชาติคุณภาพสูง

ปัจจุบัน ต้นแบบกระบวนการผลิตกะเพราในระบบ Plant Factory นี้ได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และมีผู้ประกอบการหลายรายแสดงความสนใจขออนุญาตใช้เทคโนโลยีนี้ไปต่อยอดธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ARDA ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบธรรมชาติคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมความงาม

สำหรับผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โทร. 0-2579-7435

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *