อดีตผู้ว่า สตง. แจง กมธ.ป.ป.ช. ยันหาแค่ที่ดิน ไม่เกี่ยวออกแบบตึกถล่ม-ปัดรู้เห็น 2 นักธุรกิจจีนในรูป
รัฐสภา, 30 เมษายน 2568 – นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ในประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ ที่ประสบเหตุถล่มจากแผ่นดินไหว โดยยืนยันว่า บทบาทของตนในขณะนั้นจำกัดอยู่เพียงการจัดหาและกำหนดพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสมเท่านั้น และไม่ได้เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้นภายหลังตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อ กมธ.ป.ป.ช. ว่า ในช่วงที่ตนยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. (ปี 2557-2560) ได้ดำเนินการตามแผนงาน โดยเมื่อได้พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ปัญหาน้ำท่วมและการเดินทางที่สะดวกแล้ว ก็จะนำแบบแปลนที่เคยออกแบบไว้มาปรับใช้หรือออกแบบใหม่ ซึ่งกระบวนการส่วนนี้เป็นอำนาจและการตัดสินใจของผู้บริหารชุดต่อมา เมื่อตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจึงไม่มีส่วนดูแลขั้นตอนหลังจากนั้นอีก
สำหรับกรณีภาพถ่ายที่ปรากฏว่าตนร่วมเฟรมกับนายบิงลิน วู และนายหลง เฉวียนวู ซึ่งถูกระบุว่าเป็นนักธุรกิจชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง นายพิศิษฐ์ ชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการคัดเลือกผู้รับจ้างโครงการแล้ว โดยผู้รับจ้างหลักคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และมีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เป็นผู้ร่วมค้า ซึ่งการร่วมค้าเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
อดีตผู้ว่า สตง. ยอมรับว่าในขณะนั้น หากเป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีประเด็นทางสังคม ตนก็ไม่สามารถดูออกได้ว่าเป็นใคร มาในฐานะอะไร หรือสมอ้างเข้ามาถ่ายรูปหรือไม่ และไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่โดยสายตาแล้ว หากไม่มีเหตุอันควรสงสัย ก็อาจจะไม่ได้เอะใจว่าบุคคลเหล่านั้นจะมายืนข้างๆ หรือมีประโยชน์ทับซ้อน
นายพิศิษฐ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่อนุญาตให้มีกิจการร่วมค้าได้ โดยกำหนดให้บริษัทไทยที่จดทะเบียนในประเทศไทยและมีผลงานตามเกณฑ์ สามารถร่วมค้ากันได้ แต่ในส่วนของการตรวจสอบนอมินี หรือการแอบแฝงในกิจการร่วมค้า ตนระบุว่าในขณะนั้นยังไม่มีระเบียบที่กำหนดให้ต้องตรวจสอบลึกซึ้งถึงขนาดนั้น การตรวจสอบเรื่องนอมินีไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องอาศัยการพิสูจน์เส้นทางการเงิน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน แม้แต่พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เข้ามาดูแลคดีนี้ก็ยังประสบปัญหาในการรวบรวมหลักฐานเพื่อส่งฟ้อง
นายพิศิษฐ์ ทิ้งท้ายยืนยันหนักแน่นว่า ตนพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่กระบวนการออกแบบ (ปี 2561-2562) และการทำสัญญาจ้างก่อสร้าง (ปี 2563-2564) จะเริ่มต้นขึ้น โดยตนมีส่วนรับผิดชอบเพียงแค่การเลือกและกำหนดที่ดินแปลงนี้เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่เท่านั้น