สทน. จับมือสถาบันพลังงานนิวเคลียร์จีน ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญ พัฒนาเทคโนโลยี SMR ปูทางสู่พลังงานสะอาด
กรุงเทพฯ – สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือ (Letter of Intent for Collaboration) กับ Nuclear Power Institute of China ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาด้านนิวเคลียร์ชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor: SMR) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย
พิธีลงนามดังกล่าวมีขึ้น ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รักษาการประธานกรรมการ สทน. และรองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมระดับนโยบายและหารือความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำด้านนิวเคลียร์ของจีนหลายแห่ง อาทิ China National Nuclear Corporation Overseas Ltd. (CNOS), CNNC Environmental Protection Co., Ltd. (CEPC) และ Hainan Nuclear Power Co., Ltd.
การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งเน้นการผลักดันงานวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการฝึกอบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้าน SMR ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ สทน. และ NPIC ยังมีเป้าหมายร่วมกันในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้าน SMR โดยอยู่ระหว่างการประสานขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและจีน เพื่อยกระดับเป็น “ห้องปฏิบัติการร่วมจีน-ไทย” ภายใต้โครงการ China-Thailand Belt and Road Joint Laboratory ในอนาคต
การได้ร่วมมือกับ Nuclear Power Institute of China ซึ่งเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ของจีน ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้เข้าถึงเทคโนโลยี SMR ที่มีความล้ำสมัย ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การทดสอบ การดำเนินงาน ไปจนถึงการพัฒนาเชื้อเพลิงและวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำด้านพลังงานทางเลือกใหม่ และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในระหว่างการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครื่อง SMR ของ สทน. ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก หรือ SMR ณ เมืองฉางเจียง มณฑลไห่หนาน โดยเฉพาะโครงการ ACP100 หรือที่รู้จักในชื่อ “Linglong One” ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์ SMR กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ (MWe) ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยโครงการนี้ดำเนินการโดย China National Nuclear Corporation (CNNC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านนิวเคลียร์ของจีน
เครื่องปฏิกรณ์ ACP100 ได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสำหรับโครงการพลังงานขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ต้องการแหล่งพลังงานที่มีความยืดหยุ่นและใช้งานได้ในระยะยาว จุดเด่นสำคัญคือระบบความปลอดภัยขั้นสูงแบบพึ่งพาตัวเอง หรือ “passive safety” ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการควบคุมจากมนุษย์หรือพลังงานภายนอกในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงระบบป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดอัตโนมัติ เช่น ระบบหล่อเย็นสำรอง
ACP100 ใช้เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์แบบน้ำอัดแรงดัน (Pressurized Water Reactor: PWR) สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่พึ่งพาไฟฟ้า และมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 60 ปี การออกแบบที่ลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ทำให้ ACP100 สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อมีเหตุฉุกเฉินได้นานถึง 72 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการ ที่สำคัญคือมีการกำหนดเขตพื้นที่เตรียมแผนฉุกเฉินที่เล็กลงอย่างมาก เหลือเพียงรัศมีประมาณ 500 เมตร เทียบกับโรงไฟฟ้าแบบปกติที่ใช้รัศมีถึง 5 กิโลเมตร
โครงการโรงไฟฟ้า ACP100 ที่เมืองฉางเจียงมีกำหนดจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี พ.ศ. 2569
การลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือและการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี SMR ของประเทศไทย เพื่อให้เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีศักยภาพในการเป็นพลังงานทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต