ยกระดับ ‘1,000 วันแรกแห่งชีวิต’ ดันบริการสุขภาพแม่และเด็ก สู่ท้องถิ่น รับมือประชากรลดฮวบ
กรุงเทพฯ – มูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ถอดบทเรียนความสำเร็จและยกระดับ Practice สู่ Best Practice” ในโครงการมหัศจรรย์ ๑,๐๐๐ วันแรกแห่งชีวิต เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประจำปี พ.ศ. 2568 – 2569 เพื่อยกระดับบริการส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 2 ปีบริบูรณ์ พร้อมผลักดันการขยายผลต้นแบบความสำเร็จไปสู่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรวบรวมและถอดบทเรียนรูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในโครงการมหัศจรรย์ ๑,๐๐๐ วันแรกแห่งชีวิต เพื่อนำไปสู่การยกระดับการปฏิบัติงานให้เป็นเลิศ (Best Practice) และแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งคาดหวังว่าจะเกิดแนวทางพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างการขยายผลด้านการส่งเสริมสุขภาพในระดับท้องถิ่น ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้อย่างกว้างขวาง
ด้าน นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า กรมอนามัยได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแม่และเด็กในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองที่สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ทั้งด้านร่างกาย สมอง จิตใจ และสังคม
สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate – TFR) หรือจำนวนลูกเฉลี่ยที่ผู้หญิงหนึ่งคนจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของไทยในปี 2567 ลดเหลือเพียง 1.0 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการทดแทนประชากร (2.1) ถึงกว่าเท่าตัว และจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำอันดับต้นๆ ของโลก เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ คาดการณ์ว่าในอีก 60 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 33 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี จะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่จะขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
ดังนั้น การพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 จึงต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปฏิสนธิและตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด (ประมาณ 270 วัน) และช่วงหลังคลอดจนถึงอายุ 2 ปีบริบูรณ์ (ประมาณ 730 วัน) โดยเป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างและเพิ่มจำนวนเซลล์สมอง รวมถึงสร้างเส้นใยประสาทเร็วที่สุด การได้รับโภชนาการที่เหมาะสม ควบคู่กับความรัก ความอบอุ่น และการเลี้ยงดูที่ถูกต้องจากครอบครัว จะช่วยให้เด็กเติบโตและพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพสูงได้ในที่สุด
มูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับกรมอนามัยอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพประชากรทุกกลุ่มวัย โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษที่กลุ่มแม่และเด็ก เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดรับกับโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ตามหลักกลยุทธ์ 4 H คือ เก่ง (Head) ดี (Heart) มีทักษะ (Hand) และแข็งแรง (Health) ภายใต้การมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน (Home) เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างพลเมืองคุณภาพของประเทศต่อไป