มีเนื้องอกมดลูก-ซีสต์รังไข่ กระตุ้นไข่ได้ไหม? ผู้เชี่ยวชาญไขข้อข้องใจเพื่อผู้มีบุตรยาก

เนื้องอกมดลูกและซีสต์รังไข่ ถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งโพรงมดลูก ซึ่งอาจขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน หรือนำไปสู่ภาวะแท้งซ้ำได้ ส่วนช็อกโกแลตซีสต์ที่รังไข่ นอกจากจะทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยรุนแรงช่วงมีประจำเดือนแล้ว ยังมีผลต่อคุณภาพ การเจริญเติบโต และการตกไข่โดยตรง ทำให้ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีบุตรยากเกิดความกังวลว่า หากมีเนื้องอกหรือซีสต์เหล่านี้อยู่ จะสามารถเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้วได้หรือไม่ และกระบวนการนี้จะทำให้ซีสต์หรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ หรือควรรักษาโรคเหล่านี้ให้หายก่อน ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีบุตรในระยะยาวหรือไม่

เพื่อไขข้อข้องใจเหล่านี้ รายการ “ครูก้อยพบแพทย์” EP.110 ซึ่งดำเนินรายการโดย ครูก้อย – นัชชา ลอยชูศักดิ์ ผู้ก่อตั้งเพจ BabyandMom.co.th แหล่งรวมข้อมูลสำหรับผู้มีบุตรยาก ได้เชิญ พญ.ปรวัน ตั้งธรรม (หมอมิ้งค์) แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์จาก GFC Clinic มาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาเนื้องอกในมดลูกและซีสต์รังไข่ ที่ส่งผลต่อกระบวนการกระตุ้นไข่ เก็บไข่ และการทำเด็กหลอดแก้ว

พญ.ปรวัน ได้อธิบายว่า แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูกหรือซีสต์รังไข่ จะพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งอาการที่ผู้ป่วยแสดง ขนาดของก้อน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการตั้งครรภ์ ตัวอย่างเช่น หากพบเนื้องอกมดลูกขนาด 5 เซนติเมตร ที่ยื่นออกไปนอกโพรงมดลูกและไม่มีอาการ รวมถึงไม่กระทบต่อการตั้งครรภ์ ก็อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกทันที ในขณะที่ช็อกโกแลตซีสต์ที่รังไข่ หากมีขนาด 4-5 เซนติเมตร แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่จะมีเนื้อร้ายแฝงอยู่ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ซีสต์แตกได้

สิ่งสำคัญในการพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกมดลูกไม่ใช่ขนาดเพียงอย่างเดียว แต่คือ “ตำแหน่ง” ของก้อนเนื้องอก หากเนื้องอกขนาดเล็กเพียง 1-2 เซนติเมตร แต่อยู่ภายในโพรงมดลูกโดยตรง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ในขณะที่ก้อนขนาดใหญ่ 5 เซนติเมตรที่อยู่นอกโพรงมดลูกอาจไม่มีผลกระทบดังกล่าว การผ่าตัดจึงมุ่งเน้นไปที่ก้อนที่ก่อปัญหา เช่น ทำให้ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือขัดขวางการฝังตัว เพื่อเพิ่มพื้นที่ในโพรงมดลูกให้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์

สำหรับคำถามว่าผู้ที่มีช็อกโกแลตซีสต์ขนาด 4-5 เซนติเมตร แต่ไม่ต้องการผ่าตัด จะสามารถเริ่มกระบวนการกระตุ้นไข่ได้หรือไม่ พญ.ปรวัน ชี้แจงว่า สามารถทำได้ โดยการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อายุของสตรี ปริมาณไข่ตั้งต้น (ระดับฮอร์โมน AMH) คุณภาพของสเปิร์ม รวมถึงอาการของซีสต์ ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยอายุยังน้อย (เช่น 27 ปี) มีไข่ตั้งต้นดี และฝ่ายชายสเปิร์มดี แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดซีสต์ก่อน เพราะหลังผ่าตัดและฟื้นตัวแล้วอาจมีโอกาสตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้ แต่หากผู้ป่วยอายุมากขึ้น (เช่น 37 ปี) มีซีสต์ขนาด 5 เซนติเมตร ร่วมกับมีปัญหาเรื่องสเปิร์มหรือไข่ตั้งต้นน้อย แพทย์อาจแนะนำให้กระตุ้นไข่และเก็บตัวอ่อนไว้ก่อน โดยยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดซีสต์ หากไม่มีอาการรุนแรง และเมื่อได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์แล้ว การจะใส่ตัวอ่อนหรือไม่นั้น แพทย์จะประเมินขนาดของซีสต์อีกครั้ง หากมีแนวโน้มขยายใหญ่ขึ้น อาจพิจารณาผ่าตัดก่อนเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

ครูก้อย เน้นย้ำเพิ่มเติมว่า การผ่าตัดซีสต์หรือเนื้องอกไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดหรือชนิดของโรคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาจากเงื่อนไขส่วนบุคคลของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น อายุ และปัญหาของฝ่ายชาย การตัดสินใจจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งหมดเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละกรณี หากผู้ป่วยอายุมาก การกระตุ้นไข่และเก็บไข่ไว้ก่อน อาจเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อไม่ให้เสียโอกาสจากอายุที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะจัดการกับปัญหาซีสต์หรือเนื้องอกภายหลัง

ประเด็นคำถามยอดฮิตอีกข้อคือ การฉีดยากระตุ้นไข่จะทำให้เนื้องอกและซีสต์โตขึ้นหรือไม่? พญ.ปรวัน ให้ข้อมูลว่า ทั้งช็อกโกแลตซีสต์และเนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่ไวต่อฮอร์โมน แต่การกระตุ้นไข่โดยทั่วไปใช้ระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงไม่น่าจะทำให้ซีสต์หรือเนื้องอกมีขนาดโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทันที อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยต้องเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไข่หลายรอบ และพบว่าซีสต์หรือเนื้องอกมีขนาดขยายใหญ่ขึ้นในระหว่างนั้น แพทย์จะพิจารณารักษาปัญหาเหล่านั้นก่อนการใส่ตัวอ่อน เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัย

ส่วนเนื้องอกมดลูกที่อยู่ในตำแหน่งที่อาจมีผลกับการฝังตัวอ่อน จำเป็นต้องผ่าตัดทุกกรณีหรือไม่? พญ.ปรวัน อธิบายว่า การตัดสินใจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หากเนื้องอกนั้นขัดขวางการสอดใส่อุปกรณ์ย้ายตัวอ่อน หรือมีผลกระทบชัดเจนต่อการฝังตัว แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัด แต่บางครั้งอาจลองทำการประเมินความยากง่ายในการทำหัตถการ เช่น ลองสอดอุปกรณ์ย้ายตัวอ่อนในช่วงเตรียมผนังมดลูก หรือช่วงมีประจำเดือนก่อน เพื่อช่วยในการตัดสินใจผ่าตัด

ครูก้อย กล่าวเสริมว่า การผ่าตัดเนื้องอกหรือซีสต์ แม้จะทำอย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่สามารถการันตีผลสำเร็จ 100% และอาจมีผลข้างเคียง เช่น การเกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลระยะยาวต่อมดลูก การตัดสินใจจึงต้องประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ บางกรณีอาจลองย้ายตัวอ่อนดูก่อน หากไม่สำเร็จ จึงค่อยพิจารณาวิธีอื่นๆ โดยทั้งหมดนี้ต้องปรึกษาและตัดสินใจร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

และหากผู้ป่วยมีเนื้องอกมดลูกอยู่แล้ว และตั้งครรภ์ได้สำเร็จ เนื้องอกจะโตตามขนาดทารกในครรภ์หรือไม่? พญ.ปรวัน ชี้แจงว่า มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งเนื้องอกมีขนาดเท่าเดิม เล็กลง หรือใหญ่ขึ้นเท่าๆ กัน หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก อาจเสี่ยงเกิดภาวะเนื้อตาย (necrosis) เนื่องจากเลือดส่วนใหญ่จะถูกส่งไปเลี้ยงทารก ทำให้เนื้อเนื้องอกขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดท้องและมีไข้ระหว่างตั้งครรภ์ ในกรณีนี้อาจต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก ซึ่งหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะมดลูกแข็งตัวและคลอดก่อนกำหนดสูง ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจนถึงกำหนดคลอด

โดยสรุป การตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการตรวจภายใน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อประเมินปัญหาที่อาจเกิดจากเนื้องอกมดลูกและซีสต์รังไข่ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยมากที่สุด การมีซีสต์หรือเนื้องอกไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถมีบุตรได้ แต่ต้องอาศัยการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาแบบรายบุคคลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบคอบ

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้องอกมดลูกและซีสต์ที่ส่งผลต่อการมีบุตรยาก จากรายการ “ครูก้อยพบแพทย์” EP.110 ได้ทาง YouTube: https://youtu.be/rpl9yCPCCjI?si=BT-HRYX2-9oskiFm

ติดตามความรู้เตรียมตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยากทาง Facebook เพจ: https://www.facebook.com/BabyAndMom.co.th

แอดไลน์ปรึกษาความรู้เตรียมตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก: @babyandmom.co.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *