กรมอุทยานฯ แจงยิบรายได้-งบ 2 พันล้าน ยันโปร่งใส พร้อมลุย ‘E-Ticket’ ทั่วประเทศ ต.ค. 68 หวังตัดวงจรทุจริต

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงรายละเอียดการบริหารจัดการรายได้และงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท ยืนยันความโปร่งใส พร้อมเผยแผนยกระดับระบบ ‘E-Ticket’ ใช้จริงทั่วประเทศภายใน ต.ค. 2568 หวังแก้ไขปัญหาการทุจริต เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และสร้างความมั่นคงให้เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมด้วยผู้บริหาร ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินอุทยานแห่งชาติ และทิศทางการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส

นายอรรถพล กล่าวว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติครอบคลุมกว่า 73 ล้านไร่ทั่วประเทศ คิดเป็นประมาณ 23% ของพื้นที่ประเทศไทย การบริหารจัดการยึดหลัก 6 ประการสำคัญ ได้แก่ การแบ่งโซนพื้นที่ตามศักยภาพ การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) การกำหนดระเบียบสำหรับนักท่องเที่ยว การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เน้นความรับผิดชอบและให้บริการที่ดี การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสื่อความหมาย และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีการแบ่งรายได้ 5% ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของอุทยานฯ

สำหรับสถิตินักท่องเที่ยวและการจัดเก็บรายได้ในช่วง 1 ตุลาคม 2567 ถึง 20 เมษายน 2568 มีนักท่องเที่ยวรวม 11.74 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.36% และมีรายได้รวม 1,551.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของงบประมาณปี 2568 กรมอุทยานฯ ได้รับจัดสรรอยู่ในกรอบวงเงิน 2,199.72 ล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายประจำ 68.93% และรายจ่ายตามภารกิจ 31.07% ซึ่งปัจจุบันได้อนุมัติใช้จ่ายไปแล้ว 99.19% ของงบประมาณทั้งหมด และประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ ในระบบ Business Intelligence

นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติในปีงบประมาณ 2568 ว่า ได้อนุมัติโครงการต่างๆ ไปแล้วในวงเงินรวม 2,181,811,892.32 บาท แบ่งเงินอุทยานแห่งชาติออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ประเภท ก (5%) สำหรับ อบต./เทศบาล วงเงิน 102.23 ล้านบาท, ประเภท ข (20%) สำหรับการบริหารจัดการในแต่ละอุทยานฯ วงเงิน 316.59 ล้านบาท, ประเภท ค (60%) สำหรับการอนุรักษ์ บำรุงรักษา วงเงิน 1,222.44 ล้านบาท และประเภท ง (15%) เป็นเงินสำรอง วงเงิน 540.55 ล้านบาท

รายจ่ายที่ได้รับอนุมัติครอบคลุมโครงการสำคัญ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) โครงการนักเรียน นักศึกษา ช่วยงานในอุทยานฯ โครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว การแก้ไขปัญหาช้างป่า การจัดซื้อครุภัณฑ์ การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาระบบ E-Ticket และระบบจองที่พัก รวมถึงการเพิ่มสวัสดิการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า โดยมีการปรับเพิ่มอัตราการช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตจากการปะทะหรือถูกสัตว์ป่าทำร้าย จากเดิม 500,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท และกรณีเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ จาก 400,000 บาท เป็น 500,000 บาท รวมถึงกรณีบาดเจ็บทุพพลภาพหรือพิการให้สูงขึ้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรทั้ง 18,533 คน ที่ปฏิบัติงานทั่วประเทศ

ด้าน นายอริยะ เชื้อชม ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนาระบบ E-Ticket ว่า ปัจจุบันมีการใช้ใน 6 อุทยานฯ นำร่อง (ทางบก 3 แห่ง: เขาใหญ่, ดอยอินทนนท์, เอราวัณ และทางทะเล 3 แห่ง: อ่าวพังงา, หมู่เกาะสิมิลัน, หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี) ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากแอปพลิเคชัน QueQ แม้ประสบความสำเร็จในการลดการใช้เงินสด แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องสัญญาณในบางพื้นที่ และขั้นตอนการใช้งานที่ซับซ้อน กรมฯ จึงกำลังพัฒนาระบบ E-National Park ใหม่ ให้รองรับ Mobile application และ Website พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับแอปพลิเคชัน ThaiID ของกรมการปกครอง เพื่อให้ขั้นตอนง่ายขึ้น รวมถึงรองรับการชำระเงินผ่านเครื่อง EDC และ QR Code และจะจัดหาเครื่องสแกนบัตรค่าบริการที่ทันสมัยให้ครบ 133 อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2568 โดยระบบ E-Service ใหม่นี้จะครอบคลุมการจองกิจกรรมต่างๆ การจองที่พัก ลานกางเต็นท์ รวมถึงระบบขออนุญาตประกอบกิจการและถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย

ขณะที่ นายเทอดไทย ขวัญทอง ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ โดยเฉพาะอุทยานฯ ทางทะเลชื่อดังในภาคใต้ ซึ่งมีการอบรมเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ เน้นย้ำการตรวจสอบจำนวนนักท่องเที่ยวกับการจองผ่านระบบ E-Ticket แม้ยังพบปัญหาในการปฏิบัติ เช่น การนับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกันจำนวนมาก แต่พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น

การพัฒนาระบบ E-Ticket และการบริหารจัดการเงินอย่างโปร่งใสนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการยกระดับการบริหารจัดการให้ทันสมัย ลดช่องโหว่การทุจริต และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้มาใช้บริการอุทยานแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *