รองประธานวุฒิสภา ชี้ สว.ทำงานหนักช่วงปิดสมัยฯ แต่ประชาชนไม่ทราบ เตรียมปรับกลยุทธ์สื่อสาร ดึงสื่อมวลชนร่วมติวเข้ม
ที่รัฐสภา วันที่ 28 เมษายน 2568 – พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเสริมสร้างประสิทธิภาพในการเผยแพร่ผลงานของกรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภา โดยยอมรับว่า การสื่อสารผลงานของวุฒิสภาไปสู่ประชาชนยังมีจุดอ่อนและต้องปรับปรุง
พลเอกเกรียงไกร กล่าวในระหว่างเปิดอบรมว่า ตนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมาธิการและคณะทำงานที่เข้าร่วมการอบรมในวันนี้ จะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการสื่อสารเรื่องผลงานของวุฒิสภาให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ท่านรองประธานวุฒิสภาฯ ชี้ว่า วุฒิสภามีผลงานการดำเนินงานจำนวนมาก แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ยกตัวอย่างกรณีที่ตนเองเดินทางกลับจากต่างจังหวัด และมีบุคคลสอบถามว่า เมื่อปิดสมัยประชุมไปแล้ว เหตุใดจึงยังต้องเดินทางมารัฐสภาอีก ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงไปว่า แม้การประชุมของวุฒิสภาจะปิดสมัยไป แต่การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการต่างๆ ยังคงมีการประชุมและลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
พลเอกเกรียงไกร สะท้อนปัญหาว่า “อย่างนี้ประชาชนไม่ทราบว่าในช่วงปิดสมัยการประชุม สว.มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง คงคิดว่ากลับไปนอนบ้านเฉยๆ” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารไปยังประชาชนยังไม่ครอบคลุม
เมื่อถูกถามว่า เป็นการ "ทำมากแต่ได้น้อย" หรือไม่ พลเอกเกรียงไกร กล่าวปฏิเสธว่าไม่ใช่เช่นนั้น แต่เป็นการ "ทำมากก็ได้มาก" เพียงแต่การรับรู้ของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับงานที่สมาชิกวุฒิสภาทำ เช่น งานของคณะกรรมาธิการต่างๆ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนั้น ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการประชาสัมพันธ์การทำงานอยู่บ้าง แต่ช่องทางการประชาสัมพันธ์อาจยังมีจุดบอด หรือเนื้อหาที่นำเสนออาจยังไม่น่าสนใจเพียงพอที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท่านยังกล่าวถึงความท้าทายในการเรียบเรียงข้อมูลผลการปฏิบัติงานว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามาสัมผัสและติดตามได้ง่ายขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบการสื่อสารให้มีความน่าสนใจและเข้าถึงง่ายกว่าเดิม ท่านยอมรับว่าที่ผ่านมาการสรุปผลการประชุมหรือผลการดำเนินงานบางครั้งก็ยังไม่ได้มีการนำเสนออย่างเต็มที่
ดังนั้น การอบรมในครั้งนี้จึงได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงสื่อสารมวลชนมาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำแก่คณะกรรมาธิการ อาทิ เทคนิคการเขียนข่าวให้น่าสนใจ การเลือกใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ พลเอกเกรียงไกรยังกล่าวถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณในการเชิญสื่อมวลชนจากส่วนกลางร่วมลงพื้นที่กับคณะกรรมาธิการ ทำให้บางครั้งอาจต้องพึ่งพาสื่อในพื้นที่แทน
การจัดอบรมในครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการยกระดับและปรับปรุงกลยุทธ์การสื่อสารของวุฒิสภา เพื่อให้ผลงานและบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาในช่วงต่างๆ เป็นที่รับรู้และเข้าใจโดยทั่วถึงในหมู่ประชาชน.