“โฆษกรัฐบาล” นำสื่อฯ สัญจร “สกลนคร-นครพนม” ติดตาม “นาหว้าโมเดล” เช็คความพร้อมค้าชายแดน ก่อน “ครม.สัญจร”
นครพนม – นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางลงพื้นที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมและงานสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล ในระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมควบคู่กับการตรวจราชการของคณะรัฐมนตรี และการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 2/2568 จังหวัดนครพนม ที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 29 เมษายนนี้
ในช่วงเช้าของวันที่ 27 เมษายน คณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาที่สำคัญ และยังเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่วิชาการด้านผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จากนั้น คณะสื่อมวลชนได้เข้าเยี่ยมชมกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ เพื่อศึกษาโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่ต่อยอดจากโครงการศิลปาชีพตามแนวพระราชดำริ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยได้ชมกระบวนการผลิต การออกแบบ การจำหน่าย รวมถึงการทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติที่นำไปใช้ตัดเป็นเสื้อ “ศรีโครตบูรณ์” ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะสวมใส่ในการเข้าร่วมประชุม ครม.สัญจร
นายจิรายุ กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน คณะสื่อมวลชนได้เดินทางต่อไปยังด่านศุลกากรนครพนม ด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม บริเวณสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านการค้าชายแดน และรับทราบข้อมูลการเข้า – ออกของบุคคลและสินค้า ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและเก็บข้อมูลสำคัญก่อนที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมด่านพรมแดนดังกล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.สัญจร
นอกจากนี้ คณะสื่อมวลชนยังได้เดินทางไปยังวัดโอกาสศรีบัวบาน เพื่อสักการะพระติ้ว พระเทียม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครพนม ก่อนจะเดินทางไปยังลานพญาศรีสัตตนาคราช แลนด์มาร์กสำคัญทางความศรัทธาของจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน โดยพญาศรีสัตตนาคราชองค์นี้สร้างด้วยทองเหลืองทั้งองค์ มีขนาดและความสูงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และที่พระศอมีสร้อยสังวาลที่นำสัญลักษณ์เหนือซุ้มประตูองค์พระธาตุพนมมาสวมคล้องไว้ สื่อถึงความผูกพันและปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมตามตำนาน
นายจิรายุ ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม ประสบการณ์ท้องถิ่น และความศรัทธา เพื่อเพิ่มศักยภาพและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ การส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดศรัทธามรดกภูมิปัญญาแห่งเมืองธาตุพนม จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่น นอกจากนี้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนพื้นฐานความเชื่อความศรัทธาที่ผสมผสานกับอัตลักษณ์และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จะช่วยปลูกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เกิดความตระหนักรู้ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสาน ทำให้แหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางนี้มีคุณค่าทางสังคมสูงขึ้น และนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน