การบินไทย จับมือ KMC สหรัฐฯ ตั้งศูนย์ดัดแปลงเครื่องบิน B777-300ER สู่ขนส่งสินค้า แห่งแรกในอาเซียน

กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดย นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ นาย James Allen Gibbs ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Kansas Modification Center, LLC. (KMC) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ในโครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบโบอิ้ง 777-300ER ให้เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F) ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย

นายชาย เอี่ยมศิริ เปิดเผยว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งของการบินไทยและประเทศไทย ในการยกระดับศักยภาพด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair, and Overhaul – MRO) ของประเทศ รวมถึงการขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับการบินไทย

โครงการร่วมทุนนี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ด้านการดัดแปลงอากาศยาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและเข้าถึงได้ยาก พร้อมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมการบินของไทยให้มีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในฐานะอุตสาหกรรมต้นน้ำ ไปจนถึงอุตสาหกรรมดัดแปลงอากาศยานที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และตำแหน่งงานคุณภาพให้กับหลายภาคส่วน

ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเสริมศักยภาพอุตสาหกรรม MRO ของไทยใน 3 มิติหลัก ได้แก่

  • เสริมสมรรถนะทางเทคโนโลยี: เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Technology Transfer) ด้านการดัดแปลงเครื่องบิน P2F จากผู้เชี่ยวชาญของ KMC ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะทาง
  • พัฒนาห่วงโซ่อุปทานการบิน: สร้างระบบนิเวศและส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศ เพื่อรองรับการดัดแปลงเครื่องบิน P2F ภายใต้ลิขสิทธิ์จาก KMC และพันธมิตร
  • ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ: สร้างตำแหน่งงานคุณภาพในอุตสาหกรรมการบินกว่า 500 ตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรในอุตสาหกรรม

ด้าน นาย Bong Chul Park ประธาน บริษัท KMC กล่าวว่า การร่วมมือกับการบินไทยในครั้งนี้ นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของ KMC ในการนำความเชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้ว มาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก KMC มีความภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับการบินไทยในการจัดทำโครงการปรับปรุงเครื่องบินขนส่งสินค้าชั้นนำนี้

นาย Bong Chul Park ยังกล่าวเสริมว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมประตูห้องบรรทุกสินค้าด้านหน้า (Forward Cargo Modification) อันเป็นจุดเด่นของ KMC ซึ่งให้ประสิทธิภาพเชิงน้ำหนักที่สูงกว่าสำหรับการขนส่งสินค้าระยะไกล แต่ยังสนับสนุนวิสัยทัศน์การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคที่กว้างไกลขึ้นด้วย

การผสมผสานความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของ KMC เข้ากับที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและโครงสร้างพื้นฐานด้าน MRO ที่กำลังพัฒนา การร่วมทุนครั้งนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ด้านการปรับปรุงเครื่องบิน นอกจากนี้ ความคิดริเริ่มนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ KMC ในการถ่ายทอดความรู้และการพัฒนากำลังคน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นและตอกย้ำสถานะของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินแห่งใหม่

สำหรับแผนการดำเนินงาน โครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนนี้มีแผนจะดำเนินกิจกรรมการดัดแปลงอากาศยาน ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง และพื้นที่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่มีความสามารถในการให้บริการดัดแปลงเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า (P2F) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรม MRO ไทยอย่างก้าวกระโดด และสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติในการเป็น Aviation Hub ของภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *