กมธ.มั่นคงฯ ผนึก ทีม รมว.อุตฯ ลุยตรวจ ‘ซินเคอหยวน’ ระยอง 6 พ.ค.นี้ ชี้แอบสร้างโรงงาน-สงสัยลอบนำเข้า ‘ฝุ่นแดง’ – จ่อเพิกถอน มอก.เหล็กเส้น
รัฐสภา, 25 เมษายน 2568 – คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โรงงาน ซินเคอหยวน จังหวัดระยอง ในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ร่วมกับทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หลังพบข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงงานแห่งนี้ โดยเฉพาะประเด็นการลักลอบนำเข้าและกาก ‘ฝุ่นแดง’ ปริมาณมหาศาล และการแอบก่อสร้างโรงงานสาขาที่สองทั้งที่ถูกระงับ
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง ในฐานะเลขานุการ กมธ.ความมั่นคงฯ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้เชิญนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของทุนจีนในประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดระยอง ซึ่งเผชิญปัญหา ‘ธุรกิจศูนย์เหรียญ’ ทั้งในด้านการจ้างงานและการผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ รวมถึงปัญหากากสารเคมีที่ถูกลักลอบนำเข้า
ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ กรณีโรงงาน ซินเคอหยวน ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับปริมาณ ‘ฝุ่นแดง’ ซึ่งเป็นกากอุตสาหกรรมจากการผลิต โดยนายชุติพงศ์ระบุว่า พบการขนฝุ่นแดงออกมาจากโรงงาน และจากการตรวจสอบของทีมรัฐมนตรีเบื้องต้น พบว่าปริมาณฝุ่นแดงที่มีการสำแดงตามเอกสารเพียง 2,000 ตัน และคำนวณปริมาณการผลิตสูงสุดไม่น่าเกิน 50,000 ตัน แต่กลับพบฝุ่นแดงที่จัดเก็บจริงสูงถึง 60,000 ตัน ซึ่งนำมาสู่ข้อสงสัยอย่างมากว่าอาจมีการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากภายนอก
นายชุติพงศ์กล่าวว่า ฝุ่นแดงมีข้อสันนิษฐานว่ามีราคาสูง อาจถูกนำมาใช้เป็นหน่วยแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายสินค้าบางอย่าง ซึ่งกมธ.กำลังติดตามประเด็นนี้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังขอให้กมธ.ช่วยตรวจสอบจุดที่มีการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงด้วย
เลขานุการ กมธ.ความมั่นคงฯ ยังได้สอบถามถึงความยากง่ายในการยกเลิกสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สำหรับนักลงทุนที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งทาง BOI ชี้แจงว่าการยกเลิกต้องมาจากหน่วยงานต้นทาง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือกระทรวงอุตสาหกรรม หากมีการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือมาตรฐานอุตสาหกรรม
ส่วนเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) นายเอกนัฏ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า การยกเลิก มอก. สำหรับโรงงานจีนที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ใช่เรื่องยาก หากพบความผิดจริงจะไม่มีการละเว้นและดำเนินคดีทั้งทางปกครองและอาญา นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังระบุว่าได้มีการตรวจเหล็กเส้นของบริษัท ซินเคอหยวน ขนาด 20 มิลลิเมตร SD-40T ซึ่งเก็บได้จากเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม และยืนยันว่ากระบวนการตรวจสอบถูกต้องตามมาตรฐาน และยังมีการหารือถึงการยกเลิกการใช้เตาหลอมเหล็ก IF ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลให้โรงงานที่ใช้เตาดังกล่าวต้องย้ายฐานผลิตออกไป และโรงงานที่มีมลพิษสูงอย่าง ซินเคอหยวน ที่ผลิตเหล็กค่อนข้างยากในการควบคุมคุณภาพ อาจต้องยกเลิกประกอบกิจการหรือปรับไปใช้เตา EAF แทน
สำหรับกำหนดการลงพื้นที่ตรวจสอบ นายชุติพงศ์ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งทีม ‘สุดซอย’ มาร่วมลงพื้นที่กับ กมธ.ความมั่นคงฯ ที่จังหวัดระยองในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ โดยเป้าหมายคือการตรวจสอบการก่อสร้างโรงงาน ซินเคอหยวน สาขาที่สอง ที่อำเภอปลวกแดง ซึ่งเคยถูกสั่งระงับการก่อสร้าง แต่กลับมีการลักลอบสร้างจนเสร็จ ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากทางจังหวัด การลงพื้นที่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว กมธ.ยังได้หยิบยกปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ระยองและชลบุรี ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าอาจมีคนจีนเข้ามาทำงานจำนวนมากถึง 20,000 คน แต่ตัวเลขการจ้างงานที่สำแดงถูกต้องตาม BOI มาตรา 62 มีเพียง 3,367 คน โดยในจำนวนนี้ 1,380 คนเป็นช่างเทคนิค ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้บริหารหรือผู้มีทักษะพิเศษอย่างมาก ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการใช้ฟรีวีซ่าหรือวีซ่านักศึกษาเข้ามาทำงานหรือไม่ และการจ้างงานช่างเทคนิคจำนวนมากนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ BOI ที่ต้องการให้เกิดการจ้างงานคนไทยหรือไม่
นายชุติพงศ์ชี้ให้เห็นตัวอย่างจากโรงงาน ซินเคอหยวน ที่เคยถูกสั่งปิด มีการจ้างงานคนไทยเพียง 9.4% ในขณะที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน MOU และแรงงานจีน ทำให้เกิดคำถามว่าจังหวัดระยองได้ประโยชน์จากการลงทุนลักษณะนี้น้อยมาก โดยยกกรณีเหตุเครนถล่มที่ ซินเคอหยวน ซึ่งมีคนงานจีนเสียชีวิต 1 ใน 7 ราย และเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานในฐานะแรงงานทักษะพิเศษ ซึ่งเกิดคำถามว่าประเทศไทยขาดแคลนคนขับเครนตั้งแต่เมื่อใด
หลังจากการลงพื้นที่ กมธ.จะติดตามประเด็นการอนุญาตทำงานที่ไม่สมเหตุสมผล การปล่อยให้ผู้ที่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยวหรือวีซ่าที่ไม่ได้อนุญาตการทำงานตามกฎหมายยังคงทำงานอยู่ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลโรงงานต่างชาติจากจีนอีกหลายแห่งในระยองที่ประกอบกิจการและผลิตโดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงงาน แต่จดทะเบียนเป็นโกดัง ซึ่งเป็นประเด็นที่กมธ.จะติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด