กรมธรณีเผย อาฟเตอร์ช็อก ‘เมียนมา’ ทะลุ 500 ครั้ง คาดมีต่อ 2 ปี ยัน ‘รอยเลื่อนไทย’ ไม่โดมิโน ปชช. ปลอดภัยสุดในภูมิภาค

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แจงสถานการณ์ล่าสุดหลังแผ่นดินไหวรุนแรงที่เมียนมา ยืนยันมีอาฟเตอร์ช็อกกว่า 500 ครั้ง คาดเกิดขึ้นต่อเนื่องราว 2 ปี แต่ไม่ส่งผลกระทบแบบโดมิโนถึงรอยเลื่อนในไทย พร้อมย้ำประชาชนมั่นใจ ประเทศไทยปลอดภัยสูงสุดในภูมิภาค และอัปเดตระบบแจ้งเตือน Cell Broadcast คาดใช้ได้เร็วๆ นี้

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าสถานการณ์อาฟเตอร์ช็อก หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า จากข้อมูลที่ได้รับจากทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมทรัพยากรธรณี พบว่าจนถึงปัจจุบัน (24 เม.ย.) มีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาแล้วกว่า 500 ครั้ง ทั้งในพื้นที่ประเทศเมียนมาและบางส่วนในประเทศไทย

นายพิชิต กล่าวว่า แนวโน้มของการเกิดอาฟเตอร์ช็อกนั้น ในแง่ของความรุนแรงและความถี่จะค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สำหรับระยะเวลาที่คาดว่าจะยังคงมีอาฟเตอร์ช็อกอยู่นั้น โดยเฉลี่ยแล้วจะกินเวลานานประมาณ 2 ปี หลังจากแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งแรก ซึ่งความแรงจะค่อยๆ เบาลงไปเรื่อยๆ

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีได้ชี้แจงในประเด็นที่หลายคนกังวลว่า รอยเลื่อนขนาดใหญ่ เช่น รอยเลื่อนสะกายในเมียนมา และรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศไทย จะส่งผลกระทบถึงกันแบบโดมิโน่หรือไม่ โดยยืนยันว่า รอยเลื่อนเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกันในลักษณะที่จะส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ถึงกันได้ แต่ยอมรับว่าอาจจะมีผลเกี่ยวเนื่องกันบ้างในส่วนของการเกิดปรากฏการณ์อื่นๆ เช่น หลุมยุบในบางพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในระดับที่เป็นอันตรายใหญ่หลวง

เมื่อถูกถามถึงกรณีการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย จังหวัดกระบี่ ในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวใหญ่ที่เมียนมาหรือไม่ นายพิชิตได้ยืนยันว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากเป็นการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนแต่ละแห่ง ซึ่งมีพฤติกรรมเฉพาะตัว

“อยากฝากประชาชนว่าไม่ต้องวิตกกังวลมากจนเกินไป” นายพิชิต กล่าวเน้นย้ำ “เพราะการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บนรอยเลื่อนที่มีพลังขนาดใหญ่มาก เช่น รอยเลื่อนสะกาย รอยเลื่อนสุมาตรา หรือรอยเลื่อนในแถบประเทศฟิลิปปินส์ ถ้าเกิดครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะทิ้งระยะเวลาไปนานพอสมควร บางทีอาจจะ 50-60 ปี หรือบางครั้งก็ยาวนานถึง 100 ปี กว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้ง”

นายพิชิตอธิบายเพิ่มเติมว่า หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นครั้งหนึ่ง ก็จะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอยู่ประมาณ 2 ปี เป็นเรื่องปกติของการเคลื่อนที่และปลดปล่อยพลังงานในรอยเลื่อนนั้นๆ ซึ่งความแรงจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ “ผมยืนยันว่าประเทศไทยอยู่ในจุดชัยภูมิที่ตั้งที่ปลอดภัยจากเรื่องพวกนี้สูงมาก” นายพิชิตกล่าว

สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเองนั้น ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ไม่รุนแรงถึงขนาดส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยมักจะมีขนาดประมาณ 1-3 ซึ่งเป็นขนาดที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว ประชาชนอาจจะรับรู้ได้ถึงการสั่นไหวบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นทำให้บ้านเรือนโยกคลอน หรือตึกสั่นไหวอย่างรุนแรง “จะรับรู้ได้ประมาณรถวิ่งผ่านหน้าบ้านเท่านั้น” และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนในบางพื้นที่ของไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว

“ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวลมากจนเกินไป กรมทรัพยากรธรณีขอสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนและย้ำว่าบ้านเราอยู่ในพื้นที่ตั้งที่ปลอดภัยที่สุดในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว” นายพิชิตกล่าวย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน

ในส่วนของระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว นายพิชิตได้ให้ข้อมูลล่าสุดว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยข้อมูลที่ได้รับจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานระบบดังกล่าวได้อย่างเป็นทางการประมาณเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมปีนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *