รมว. ทส. ลงพื้นที่ร้อยเอ็ด ติดตามแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำบาดาลกร่อยเค็ม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ร้อยเอ็ด – ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ตำบลอุ่มเม้า อำเภอธวัชบุรี ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำบาดาลกร่อยเค็มอย่างเรื้อรัง โดยเน้นย้ำการบูรณาการทำงานของสองกรมหลัก คือ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายนเรศ ชมบุญ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 3, นายนิทัศน์ พรมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 4, คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษา สำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงกร่อยเค็ม ณ ตำบลอุ่มเม้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของประชาชน สำหรับพื้นที่ตำบลอุ่มเม้าแห่งนี้ นอกจากจะมีปริมาณน้ำฝนน้อยและประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาน้ำเค็ม (กร่อย) ทำให้ประชาชนในพื้นที่กว่า 15 หมู่บ้าน จำนวน 2,027 ครัวเรือน หรือประมาณ 7,213 คน ต้องประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก
โครงการศึกษา สำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงกร่อยเค็มนี้ ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำอุปโภคบริโภคใช้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยโครงการได้มีการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วยการเจาะบ่อบาดาลขนาด 6 นิ้ว จำนวน 4 บ่อ, การสร้างถังเหล็กเก็บน้ำขนาด 250 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง, หอถังสูง ขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร รวมถึงการจัดทำจุดจ่ายน้ำถาวรและจุดบริการน้ำดื่ม ซึ่งจะมีการก่อสร้างระบบประปาบาดาลและระบบกระจายน้ำเพิ่มเติมอีกด้วย หากโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถให้บริการน้ำแก่ประชาชนได้มากถึง 240,900 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ครอบคลุม 15 หมู่บ้าน
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ มีแผนดำเนินการโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยกุดแคน พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยแสงอาทิตย์ บ้านนาดำ หมู่ 4 ตำบลอุ่มเม้า ซึ่งจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำจากห้วยกุดแคน เพื่อเสริมระบบน้ำบาดาลขนาดใหญ่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
โครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากห้วยกุดแคนนี้ ดำเนินการร่วมกับสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 4 (ขอนแก่น) จะเป็นผู้ออกแบบและจัดหาน้ำผิวดินมาใช้เสริมระบบน้ำบาดาล ปัจจุบันโครงการอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยงบประมาณปี 2568 คาดว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ 9 หมู่บ้าน รวม 1,331 ครัวเรือน ได้ใช้น้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือนได้ถึง 50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลอุ่มเม้า จังหวัดร้อยเอ็ดได้อย่างยั่งยืน และเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนไทยทุกพื้นที่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.