CIB ทลายเครือข่ายแลกคริปโตเถื่อน ‘Crypto Phantom’ เงินสะพัดกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เอี่ยวฟอกเงิน อาชญากรรมไซเบอร์

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เปิดปฏิบัติการ “Operation Crypto Phantom” หรือ “เปิดหน้ากากร้านแลกเหรียญเถื่อน” กวาดล้างเครือข่ายรับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี ที่ไม่ได้รับอนุญาตในหลายพื้นที่ พบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์ ฟอกเงิน อุ้ม ปล้น และเรียกค่าไถ่

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ณ อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม มีการแถลงข่าวผลการปฏิบัติการครั้งสำคัญนี้ โดย พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้บังคับการ ปอศ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาชญากรรมมีรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ และขบวนการค้ายาเสพติด ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการโดยใช้ คริปโทเคอร์เรนซี เป็นเครื่องมือในการอำพรางเส้นทางการเงินและฟอกเงิน ซึ่งหนึ่งในวิธีที่นิยมคือ การทำธุรกรรมผ่านร้านแลกเปลี่ยนคริปโตที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ก่อนจะถอนออกมาเป็นเงินสด

ร้านแลกเปลี่ยนผิดกฎหมายเหล่านี้ มักแฝงตัวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ เช่น ภูเก็ต สมุย พัทยา และกรุงเทพมหานคร โดยรับแลกเงินให้กับชาวต่างชาติเพื่อแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล หรือในทางกลับกันโดยไม่ผ่านระบบศูนย์แลกเปลี่ยน (Exchange) ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพียง 33 บริษัทเท่านั้น

พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผู้กำกับการ 3 บก.ปอศ. เปิดเผยถึงการสืบสวนของ กก.3 บก.ปอศ. ว่า พบร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และภูเก็ต มีการแอบให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท USD Tether (USDT) ในลักษณะ “ชนมือ” คือ การนัดพบเพื่อแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบธุรกรรม การหลบเลี่ยงภาษี และนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนในธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเครือข่ายค้ายาเสพติดและแก๊งคอลเซ็นเตอร์

จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมกว่า 1,000 รายการ มีเงินหมุนเวียนรวมสูงถึง 425,104,595 USDT หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ กก.3 บก.ปอศ. จึงเปิดปฏิบัติการ “Operation Crypto Phantom” ตรวจค้น 8 จุดเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าว

เป้าหมายการตรวจค้น ได้แก่ อาคารพาณิชย์และบริษัทรับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในพื้นที่ ต.ฉลอง, ต.เชิงทะเล, ต.ป่าตอง จ.ภูเก็ต, บริษัทรับแลกเปลี่ยนในพื้นที่ ต.หนองปรือ จ.ชลบุรี และบ้านพักในพื้นที่เขตห้วยขวาง และเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

ผลการปฏิบัติการ พบผู้กระทำผิดที่ให้บริการแลกเปลี่ยนผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา รวม 5 ราย เข้าข่ายความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมตรวจยึดของกลางที่เกี่ยวข้อง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชีธนาคาร Hardware Wallet และเอกสารธุรกรรมจำนวนมาก

พฤติกรรมของเครือข่ายนี้คือ การเปิด “โต๊ะแลกคริปโท” รับลูกค้าชาวต่างชาติ เช่น ชาวรัสเซีย ชาวจีน หรือชาติอื่นๆ ให้ใช้เงินบาทแลกเหรียญดิจิทัล หรือแลก USDT กลับเป็นเงินบาท โดยไม่ผ่านระบบ Exchange ที่ได้รับอนุญาต ทำให้เงินสามารถถูกฟอกไปยังต่างประเทศผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลและ Exchange ต่างชาติ ก่อนกระจายเข้าสู่กลุ่มมิจฉาชีพ

การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ “ชนมือ” หรือการนัดพบแลกเปลี่ยนนอกสถานที่และนอกระบบที่ได้รับอนุญาต ถือเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล และการมีส่วนร่วมในธุรกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ แม้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตแลกเปลี่ยนเงินตราจาก ธปท. หากแอบให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน

เจ้าหน้าที่จึงฝากเตือนประชาชนให้เลือกใช้บริการผ่านผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย เพราะผู้ประกอบการธุรกิจแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ถือเป็นแหล่งฟอกเงินสำคัญของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างมหาศาล

การประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 ถึง 500,000 บาท และยังปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท รวมถึงอาจมีความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายฟอกเงินและกฎหมายฉ้อโกง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *