อินเดียตอบโต้กราดยิงกัศมีร์! ลดสัมพันธ์ปากีสถาน ระงับสนธิสัญญาน้ำสินธุ
นิวเดลี – อินเดียประกาศมาตรการตอบโต้ปากีสถานขั้นรุนแรง หลังจากเกิดเหตุกราดยิงกลุ่มนักท่องเที่ยวในดินแดนสหภาพชัมมูและกัศมีร์ ทางตอนเหนือของอินเดีย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 26 ราย สำนักข่าวรอยเตอร์และบีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ว่าทางการอินเดียได้ประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับปากีสถานอย่างมีนัยสำคัญ
นายวิกรม มีศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย แถลงว่า อินเดียจะระงับสนธิสัญญาว่าด้วยน่านน้ำสินธุ ปี 2503 ในทันที มาตรการนี้จะมีผลจนกว่าปากีสถานจะถอนตัวจากการสนับสนุนการก่อการร้ายข้ามพรมแดน ก่อนหน้านี้ ปากีสถานยืนกรานปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายในเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่นายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ ผู้นำปากีสถาน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติเพื่อหารือถึงการตอบสนองต่อแถลงการณ์ของอินเดีย
รายงานระบุว่า การระงับสนธิสัญญาว่าด้วยน่านน้ำสินธุ ซึ่งมีธนาคารโลกเป็นตัวกลางในการแบ่งปันการใช้น้ำจากแม่น้ำสินธุและลำน้ำสาขา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อปากีสถาน ซึ่งพึ่งพาแม่น้ำสายนี้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำและใช้ในการชลประทานสำหรับการเกษตร
นอกจากนี้ อินเดียยังได้ดำเนินการตัดเส้นทางการคมนาคมและการทูตเกือบทั้งหมดระหว่างสองประเทศ โดยได้สั่งปิดจุดผ่านแดนทางบกแห่งเดียวที่ยังคงเปิดอยู่ สำหรับบุคคลที่เดินทางจากปากีสถานเข้ามาในอินเดีย จะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับผ่านจุดดังกล่าวได้ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศ
มาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นคือ การที่อินเดียจะไม่ได้รับอนุญาตให้ชาวปากีสถานเดินทางเข้าประเทศอีกต่อไป วีซ่าที่มีอยู่ทั้งหมดสำหรับชาวปากีสถานถูกยกเลิก ยกเว้นกรณีพิเศษ ซึ่งชาวปากีสถานที่อยู่ในอินเดียด้วยวีซ่าประเภทพิเศษดังกล่าว จะมีเวลา 48 ชั่วโมงในการเดินทางออกจากประเทศ
ในส่วนของการทูต อินเดียได้ประกาศให้ที่ปรึกษาฝ่ายกลาโหมทั้งหมดในคณะผู้แทนปากีสถานประจำกรุงนิวเดลี เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา (persona non grata) และต้องเดินทางออกจากอินเดียภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมกันนี้ยังได้ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนอินเดียประจำกรุงอิสลามาบัด จากเดิม 55 คน เหลือเพียง 30 คน
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดียและปากีสถานอยู่ในภาวะตึงเครียดมาอย่างยาวนาน แม้กระทั่งก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการล่าสุด โดยก่อนหน้านี้ ปากีสถานเคยขับไล่เจ้าหน้าที่ทางการทูตของอินเดีย และไม่ได้ส่งเอกอัครราชทูตของตนไปประจำที่กรุงนิวเดลี หลังจากที่อินเดียได้ประกาศยุบสถานะรัฐของชัมมูและกัศมีร์ และแบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 2 ดินแดนสหภาพ เมื่อปี 2562 นอกจากนี้ ปากีสถานยังเคยระงับบริการรถไฟสายหลักไปยังอินเดีย และห้ามฉายภาพยนตร์อินเดียในประเทศอีกด้วย
เหตุการณ์กราดยิงนักท่องเที่ยวในครั้งนี้ จึงเป็นชนวนที่ทำให้อินเดียตัดสินใจใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี เพื่อกดดันปากีสถานให้ยุติการสนับสนุนกลุ่มที่อินเดียเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุในกัศมีร์.