ศุภณัฐ จวก เยียวยาแผ่นดินไหวต่ำกว่าความเสียหายจริง เสียหายหลักแสน ได้ไม่ถึงพัน จี้แก้หลักเกณฑ์-ขยายเวลายื่น

นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ว่า ขณะนี้พบปัญหาเงินเยียวยาที่รัฐบาลสนับสนุนต่ำกว่าความเสียหายจริงในหลายกรณี ซ้ำยังมีขั้นตอนและเอกสารที่ยุ่งยากเกินความจำเป็น พร้อมเสนอให้รัฐบาลเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การเยียวยาและขยายระยะเวลายื่นเรื่องออกไปอีก 1 เดือน

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่รัฐสภา นายศุภณัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการติดตามความคืบหน้าการเยียวยาประชาชนจากเหตุแผ่นดินไหว โดยกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเมื่อวันที่ 22 เมษายน เพื่อสั่งการให้การประเมินราคาเยียวยาสอดคล้องกับความเสียหายจริง ว่าในส่วนของ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่ตนติดตามอยู่นั้น คือปัญหาในส่วนของกระบวนการก่อนการได้รับเงินเยียวยา

นายศุภณัฐ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของขั้นตอนที่ยังต้องไปแจ้งความก่อนยื่นเรื่องที่สำนักงานเขต การใช้เอกสารจำนวนมากเกินไป ซึ่งบางอย่างหน่วยงานรัฐก็มีข้อมูลอยู่แล้ว เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือโฉนดที่ดิน นอกจากนี้ยังไม่เปิดให้ยื่นเรื่องทางออนไลน์ ทำให้ประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการดำเนินการ

“ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องเดินทางมาประเมินสถานที่ ซึ่งค่าดำเนินการต่างๆ อย่างต่ำอาจเป็นหลักพัน แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับกลับต่างกันไปมาก เงินที่รัฐบาลสนับสนุนมาเป็นเพียงค่าวัสดุอย่างเดียว ราคาก็อาจจะต่ำไปด้วยซ้ำ และค่าแรงนั้นไม่มีให้ จึงเป็นที่มาให้ผมนนำเรื่องนี้เข้า กมธ. เพื่อเรียกหน่วยงานมาพูดคุยกันว่า หลักเกณฑ์เป็นเช่นไร สามารถปรับให้สอดคล้องกับความเสียหายของประชาชนได้หรือไม่” นายศุภณัฐ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีค่าเยียวยาที่ตั้งไว้สูงสุด 49,500 บาท มีผู้ได้รับจริงตามเพดานนี้มากน้อยแค่ไหน นายศุภณัฐ ระบุว่า “โห ผมเห็นบางคนเสียหายเป็นแสน แต่ได้มาไม่ถึงพัน พูดง่ายๆ คุณคงต้องมีสภาพคล้ายตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อน จึงจะได้ 49,500 บาท” พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ความตั้งใจของสภาฯ คืออยากให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาตามความเสียหายจริง แต่หลักเกณฑ์ที่ออกมาโดยรัฐบาลกลับไปกดราคา ทำให้การจ่ายจริงไม่ตรงตามเป้าหมายที่สภาฯ ตั้งไว้

เลขานุการ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจฯ กล่าวถึงยอดผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นขอเยียวยา ซึ่งมีกรอบเวลาถึงวันที่ 27 เมษายนนี้ ว่าเป็นอีกประเด็นที่จะหารือกับหน่วยงาน โดยอยากให้ขยายระยะเวลายื่นออกไปอีก 1 เดือน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่ทราบข่าวสามารถยื่นได้ทัน หรือหากไม่ทันจริงๆ รัฐบาลก็ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ แต่ก็เกรงว่าจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าเงินเยียวยาในขณะนี้ไม่ตอบโจทย์ความเสียหาย ทำให้ประชาชนอาจเปลี่ยนใจไม่ยื่นเรื่อง หลังจากเห็นรีวิวที่ได้รับเพียง 700 กว่าบาท รัฐบาลจึงต้องให้ความมั่นใจว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้ทันหรือมีผลย้อนหลังได้

นายศุภณัฐ เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาการประเมินความเสียหายที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องเดินทางไปดูแต่ละบ้านเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความวุ่นวายและนัดหมายยาก โดยกล่าวว่า หากความเสียหายไม่เยอะ อาจให้ส่งแค่คลิปวิดีโอไปได้หรือไม่ เพราะหลายคนซ่อมแซมบ้านไปแล้ว เจ้าหน้าที่จะได้สามารถดูจากวิดีโอประกอบการพิจารณาได้ โดยให้ถ่ายคลิปตั้งแต่หน้าห้อง เห็นเลขห้อง ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ลงได้มาก โดยเฉพาะในเขตที่มีผู้ยื่นจำนวนมาก เช่น เขตจตุจักรที่มีประมาณ 5,000 เคส

นอกจากนี้ นายศุภณัฐ ยังกล่าวถึงการติดตามเรื่องเงินเยียวยาในนามพรรคประชาชน โดยมีการเรียกร้องผ่านสื่อและทำหนังสือยื่นไปยังหน่วยงานต่างๆ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบแปลนตึก สตง. ซึ่งนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้ดูแล และชมเชยการทำงานกู้ซากของ กทม. โดยผู้ว่าฯ กทม. ที่รับมือกับสถานการณ์ยากลำบากได้ดี

สุดท้าย นายศุภณัฐ ย้ำถึงจุดประสงค์หลักของ กมธ. ว่าต้องการให้รัฐบาลเยียวยาประชาชนโดยเร็ว และเงินที่เยียวยาต้องสอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องให้มีการยื่นเรื่องออนไลน์ได้ในอนาคต โดยยกตัวอย่างเอกสารที่ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนเตรียมใหม่ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือโฉนดที่ดิน ซึ่งรัฐมีข้อมูลอยู่แล้ว และควรลดแบบฟอร์มคำขอจาก 6 แบบฟอร์มให้เหลือเพียง 1 แบบฟอร์ม เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่ายของประชาชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *