เพจดังตั้งคำถาม ‘Sky Lounge สตง.’ จำเป็นแค่ไหน? อาคาร 30 ชั้น งบ 2.1 พันล้าน ประชาชนถาม ‘คุ้มไหม มีไว้เพื่ออะไร’
จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊กชื่อดัง CSI LA ได้โพสต์ภาพและข้อความที่สร้างความสนใจและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 โดยได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ที่เรียกว่า “Sky Lounge” ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 29 ของอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขึ้นมาตั้งคำถาม
ในโพสต์ดังกล่าว เพจ CSI LA ระบุข้อความว่า “Sky Lounge ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จำเป็นแค่ไหนกับการตรวจสอบงบประมาณ หรือจริงๆ แล้ว มีไว้ต้อนรับแขก VIP หรือใช้กันเอง มากกว่าตรวจสอบใคร Sky Lounge ชั้น 29 วิว งบกี่ล้านไม่แน่ใจ แต่ประชาชนถามว่า คุ้มไหม มีไว้เพื่ออะไร”
ประเด็นนี้จุดประกายให้เกิดการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนจำนวนมากในโพสต์ดังกล่าว โดยหลายความเห็นตั้งข้อสงสัยถึงความเหมาะสมของการมีพื้นที่อำนวยความสะดวกในลักษณะดังกล่าวภายในหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน บางส่วนเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณอย่างเคร่งครัด
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สตง. พบว่า โครงการก่อสร้างนี้ใช้งบประมาณไปกว่า 2,136 ล้านบาท มีความสูง 30 ชั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง การก่อสร้างดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
สิ่งที่ทำให้ประเด็นนี้ยิ่งถูกจับตามองมากขึ้น คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้รับเหมา โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่โพสต์ของ CSI LA จะเผยแพร่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้าจับกุม นายชวนหลิง จาง ผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน ซึ่งถือหุ้น 49% และเป็นหนึ่งในกรรมการของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ขณะที่กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 3 รายนั้น ยังอยู่ระหว่างการติดตามจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแม้ประเด็นการจับกุมจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ Sky Lounge แต่ก็เชื่อมโยงกับความโปร่งใสและประเด็นทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐ
คำถามสำคัญที่ยังคงค้างคาและต้องการคำชี้แจงคือ ความจำเป็นและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการก่อสร้าง Sky Lounge บนชั้นสูงของอาคาร สตง. ในยุคที่หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนถูกคาดหวังให้ใช้จ่ายงบประมาณอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน อาคารมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับนี้หรือไม่ และพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้งานเพื่อภารกิจหลักในการตรวจสอบการเงินแผ่นดินจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงพื้นที่พิเศษสำหรับบุคคลบางกลุ่ม
ประเด็นนี้จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงความคาดหวังของสาธารณะต่อการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและคุ้มค่าของการใช้เงินแผ่นดินอย่าง สตง. ซึ่งย่อมต้องเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส