สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีแผงโซลาร์เซลล์นำเข้าจาก 4 ชาติอาเซียน สูงสุด 3,521% เหตุสงสัยรับการอุดหนุนจากจีน
สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีแผงโซลาร์เซลล์นำเข้าจาก 4 ชาติอาเซียน สูงสุด 3,521% เหตุสงสัยรับการอุดหนุนจากจีน
วอชิงตัน ดี.ซี. – กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศแผนขึ้นภาษีนำเข้าต่อแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ จากผู้ผลิตใน 4 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทย โดยมาตรการภาษีนี้มีอัตราที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท และบางรายอาจต้องเผชิญกับภาษีที่สูงลิบลิ่วถึงร้อยละ 3,521
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูลตามคำร้องขอของกลุ่มอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ภายในสหรัฐฯ ซึ่งได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อขอให้ช่วยปกป้องอุตสาหกรรมของตนเองจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
เป้าหมายหลักของมาตรการภาษีสินค้านำเข้าครั้งนี้คือการพุ่งเป้าไปที่เอกชนผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ในทั้งสี่ประเทศ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้รับการอุดหนุนราคาอย่างผิดกฎหมายจากรัฐบาลจีน ทำให้สามารถส่งสินค้าเข้ามาทุ่มตลาดในสหรัฐฯ ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างไม่เป็นธรรม
มาตรการภาษีที่ประกาศใช้ในครั้งนี้เป็นภาษีในลักษณะ “ภาษีต่อต้านการอุดหนุนและการทุ่มตลาด” (Anti-subsidy and Anti-dumping duties) ซึ่งมีรายละเอียดและความรุนแรงแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับผู้ส่งออกในแต่ละชาติเป้าหมาย
รายงานระบุว่า ผู้ส่งออกโซลาร์เซลล์หลายรายในประเทศกัมพูชาต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงที่สุดคือร้อยละ 3,521 เนื่องจากไม่ให้ความร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ ในการสืบสวนข้อเท็จจริง ขณะที่บริษัท จินโก โซลาร์ (Jinko Solar) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสัญชาติจีนที่มีฐานการผลิตในประเทศมาเลเซีย เผชิญกับภาษีสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 41 ซึ่งนับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในกลุ่มที่ถูกสำรวจ สำหรับบริษัท ทรินา โซลาร์ (Trina Solar) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสัญชาติจีนเช่นกัน และมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ต้องเผชิญกับภาษีสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 375
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีท่าทีหรือการแสดงความคิดเห็นใดๆ จากเอกชนผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศมาตรการภาษีครั้งนี้ของสหรัฐฯ
ข้อกล่าวหาและมาตรการนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เอกชนผู้ผลิตจากประเทศจีนหลายแห่งนิยมย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่เคยประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในสมัยแรก
ด้านคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (USITC) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ทำการสืบสวนในประเด็นนี้ จะมีกำหนดตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับมาตรการภาษีข้างต้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
มาตรการล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้รับการตอบรับในเชิงบวกจาก “คณะกรรมาธิการการค้าว่าด้วยพันธมิตรผู้ผลิตโซลาร์เซลล์อเมริกัน” (The American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยื่นเรื่องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนดำเนินการสืบสวนในประเด็นนี้
นายทิม ไบรต์บิล (Tim Brightbill) ประธานที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อมาตรการนี้ โดยระบุว่านี่คือชัยชนะที่เด็ดขาดของผู้ผลิตชาวอเมริกัน และยังเป็นการตอกย้ำข้อเท็จจริงที่เป็นที่ทราบกันดีว่าบรรดาเอกชนจีนในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์นั้น “โกง” (cheated) ระบบมาโดยตลอด
ข้อมูลจากสำนักงานสำมะโนสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้นำเข้าอุปกรณ์และสินค้าประเภทโซลาร์เซลล์จากทั้งสี่ประเทศเป้าหมายนี้คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการภาษีใหม่ที่ประกาศออกมานี้จะถูกนำไปทบรวมกับภาษีเดิมที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยประกาศใช้ไว้ก่อนหน้า ซึ่งแม้ว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อบรรดาผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ภายในสหรัฐฯ ในแง่ของการปกป้องตลาดภายใน แต่ก็คาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ และลดทางเลือกในการเข้าถึงแผงโซลาร์เซลล์ในราคาที่เป็นมิตรต่อกระเป๋าเงินที่เคยมีมา