ครม. ไฟเขียว! ต่ออายุใบขับขี่ง่ายขึ้น ไม่ต้องทดสอบสมรรถภาพ-ทำผ่านออนไลน์ได้ (ตามเงื่อนไข)

ข่าวดีสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน! เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สืบเนื่องจากปัจจุบันการขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ผู้ขอต้องเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายด้วยตนเองทุกครั้งที่ขอต่ออายุ ณ ที่ทำการของนายทะเบียน ซึ่งทำให้ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก มีภาระค่าใช้จ่าย และเสียเวลาเดินทางมาติดต่อราชการ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e – Government)

นายคารม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ยกเว้นการทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย: สำหรับการขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ซึ่งผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถต้องมีอายุไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด หรือ ไม่มีเงื่อนไขด้านสภาพร่างกายตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด (ผู้ที่เข้าข่ายเงื่อนไขตามที่อธิบดกำหนด ยังคงต้องทดสอบ)

2. กำหนดให้ผู้ขอต่ออายุที่เข้าข่ายต้องทดสอบ: ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถซึ่งมีอายุ และเงื่อนไขของสภาพร่างกาย หรือเงื่อนไขอื่นตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด จะต้องทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งอย่างน้อยต้องทำการทดสอบความสามารถของปฏิกิริยา และสายตา และผ่านการอบรม

การแก้ไขกฎกระทรวงนี้ มุ่งหวังเพื่อให้การดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตขับรถสามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นหลัก สำหรับผู้ที่เข้าเงื่อนไขที่ได้รับการยกเว้นการทดสอบร่างกาย ซึ่งจะเป็นไปตามพ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนติดต่อราชการได้

การปรับปรุงนี้จะช่วยลดภาระ ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชนได้อย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรฐานในการตรวจสอบและคัดกรองผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถไว้ตามความเหมาะสม

กฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *