น้อมรำลึก 134 ปี ชาตกาล “หลวงพ่อแม้น ธัมมสโร” วัดใหญ่โพหัก เกจิดังราชบุรี ผู้ได้รับการยกย่อง “วาจาสิทธิ์”
ราชบุรี – วันพุธที่ 23 เมษายน 2568 น้อมรำลึกครบรอบ 134 ปี ชาตกาล “พระครูธรรมสาทิศ” หรือ “หลวงพ่อแม้น ธัมมสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่โพหัก ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต โดยเฉพาะด้านวัตถุมงคลที่มากด้วยพุทธคุณและประสบการณ์ รวมถึงได้รับการกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่ง “วาจา”
หลวงพ่อแม้น ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2434 ณ ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรของ นายทอง และ นางโมง ทิมบุตร
ในช่วงวัยเยาว์ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งหนังสือไทยและบาลี กับหลวงพ่อกล่อม เจ้าอาวาสวัดใหญ่โพหักในสมัยนั้น
เมื่ออายุครบ 21 ปี ในปี พ.ศ.2455 ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดใหญ่โพหัก โดยมีหลวงพ่อแดง วัดทำนบ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการดำ วัดจินดาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการอ้น วัดใหญ่โพหัก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ธัมมสโร”
หลังอุปสมบท หลวงพ่อแม้นได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่โพหัก และมุ่งมั่นศึกษาพุทธาคมและวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์ผู้เรืองนามหลายท่านในพื้นที่จังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม อาทิ หลวงพ่อกล่อม วัดโพหัก, หลวงพ่อแดง วัดทำนบ, หลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง, หลวงพ่อดำ วัดจินดาราม และหลวงพ่อรุ่ง วัดดอนยายหอม ซึ่งล้วนเป็นสุดยอดพระเกจิอาจารย์ในยุคนั้น
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นสหธรรมิก หรือเป็นเพื่อนร่วมวัยในเพศบรรพชิตกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกสองท่าน คือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม และหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง จังหวัดสมุทรสาคร
ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามและความสามารถทางวิชาการสงฆ์และพุทธาคม กระทั่งในปี พ.ศ.2460 เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่โพหักว่างลง คณะสงฆ์ได้มีมติแต่งตั้งให้หลวงพ่อแม้นขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ทั้งที่ขณะนั้นท่านยังมีอายุพรรษาไม่มาก
กล่าวสำหรับ “วัดใหญ่โพหัก” เอง ก็เป็นวัดเก่าแก่โบราณที่มีประวัติความเป็นมายาวนานแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ว่ากันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2277 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2493 โดยชื่อของ “โพหัก” มีเรื่องเล่าขานถึงตำนานหลายทาง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการหักโค่นลงของต้นโพธิ์ ซึ่งอาจเป็นผลจากการศึกสงครามในอดีต ทั้งเรื่องของพญากง-พญาพาน กองทัพพม่า หรือการอพยพหนีภัยสงครามจากกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีมณฑปและพระพุทธรูปเก่าแก่ที่น่าสนใจอีกด้วย
ในด้านสมณศักดิ์และการปกครอง หลวงพ่อแม้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลโพหักในปี พ.ศ.2463 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวนในปี พ.ศ.2480 และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูธรรมสาทิศ” ในปี พ.ศ.2492 ต่อมาท่านยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ว่ากันว่ามีชาวบ้านจำนวนมากนำกุลบุตรไปขอให้ท่านทำพิธีอุปสมบทให้ ด้วยจิตใจที่ดีงาม ใครนิมนต์ให้ไปบวชให้ที่ไหน ท่านก็จะขี่ม้าไปโปรดโดยไม่ย่อท้อ
หนึ่งในเรื่องราวที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อแม้นคือเรื่องการขุดคลองป่าหลวง ซึ่งเมื่อการขุดดำเนินไปถึงช่วงหนึ่งแล้วไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หลวงพ่อแม้นได้แนะนำให้ชาวบ้านทำพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้น และเมื่อเริ่มขุดต่อ ก็ได้พบโครงกระดูกคนโบราณที่มีความสูงถึง 8 ศอก ทำให้ผู้คนยิ่งเชื่อมั่นในวาจาสิทธิ์และความสามารถในการล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของท่าน
หลวงพ่อแม้น ธัมมสโร มรณภาพลงเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2498 สิริอายุ 65 ปี พรรษา 44
การน้อมรำลึกครบรอบ 134 ปี ชาตกาลของท่านในครั้งนี้ จึงเป็นการย้อนระลึกถึงคุณงามความดี วัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส และปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เล่าขานสืบต่อกันมาของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลองรูปนี้.