ชาวสวนยางตรัง สุดทน! ราคาดิ่งเหว ขาดทุนยับ ร้องรัฐบาลช่วย หลังนายทุนกดราคา ต่ำกว่าราคากลาง

ตรัง – ชาวสวนยางพาราจังหวัดตรังจำนวนมาก รวมตัวยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังเดือดร้อนหนักจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง อ้างถูกกลุ่มนายทุนกดราคาซื้อต่ำกว่าราคากลาง ทำให้ประสบภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง เรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2568 ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง นายวิรัตน์ อันตรัตน์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง พร้อมด้วยเครือข่ายสมาชิกกว่า 40 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับปัญหาราคายางพารา ผ่านพันจ่าโทอนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อส่งต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกวร.)

นายวิรัตน์ เปิดเผยถึงความเดือดร้อนของชาวสวนยางพาราในพื้นที่จังหวัดตรังว่า ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ราคายางพาราในตลาดภายในประเทศได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ประมาณ 10 บาทต่อ 1 กิโลกรัม และยังมีทีท่าว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระได้และประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก

ชาวสวนยางมองว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่กลุ่มนายทุน บริษัทรับซื้อยางพารารายใหญ่ อาศัยสถานการณ์ที่ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการทางภาษี (ซึ่งแม้จะมีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน และยางพาราที่ซื้อขายส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่สินค้าที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศในช่วงนี้) มาเป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อยางพาราให้ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงและต่ำกว่าราคากลางที่ประกาศ โดยมีเจตนาเพื่อแสวงหาผลกำไรของกลุ่มทุนตนเองเท่านั้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางรู้สึกไม่พอใจและมองว่าเป็นการเอาเปรียบและย่ำยีชีวิตของพวกเขา

สำหรับราคากลางของยางพาราที่ประกาศ ณ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568 ต่อ 1 กิโลกรัม มีดังนี้ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 65.50 บาท (ส่วนต่างจากวันก่อนหน้า +3.50 บาท), ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 63.50 บาท (ส่วนต่างจากวันก่อนหน้า +3.50 บาท), น้ำยางสด 55.75 บาท (ส่วนต่างจากวันก่อนหน้า +0.25 บาท), และยางก้อนถ้วย 100% 53.00 บาท (ส่วนต่างจากวันก่อนหน้า +1.00 บาท), ยางก้อนถ้วย 70% ราคา 37.10 บาท (ส่วนต่างจากวันก่อนหน้า +0.70 บาท) อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยืนยันว่าราคาที่รับซื้อจริงในแต่ละพื้นที่มีแนวโน้มต่ำกว่าราคากลางที่ประกาศนี้

ในหนังสือร้องเรียน ชาวสวนยางพาราได้ยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 9 ข้อต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีข้อเรียกร้องหลักๆ เช่น

  1. ขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกวร.) ออกประกาศกำหนดราคาซื้อตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อเกษตรกร โดยให้มีการหารือและประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนออกประกาศ
  2. ขอให้ กกวร. ออกประกาศกำหนดตามมาตรา 25 พ.ร.บ.เดียวกัน ให้ผู้รับซื้อยางพาราแจ้งปริมาณ ณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย แผนการผลิต แผนการนำเข้า แผนการส่งออก แผนการซื้อ แผนการจำหน่าย แผนการเปลี่ยนแปลงราคา หรือรายการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีข้อมูลในการควบคุมสินค้ายางพาราให้มีเสถียรภาพทางราคา และป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร โดยให้มีการหารือกับ กยท. ก่อนออกประกาศเช่นกัน
  3. ขอให้ กกวร. ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ชัดเจน ตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อใช้พิจารณาพฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคายางพาราต่ำเกินสมควร สูงเกินสมควร หรือทำให้ราคาปั่นป่วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้มีการหารือกับ กยท. ก่อนออกประกาศ

ชาวสวนยางพาราจังหวัดตรัง หวังว่าการยื่นหนังสือในครั้งนี้ จะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั่วประเทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *