สธ.จี้ อบจ.กาญจน์ เร่งจ่ายหนี้ค่ารักษา 152 ล้านบาท หวั่น 3 รพ.แม่ข่ายเงินบำรุงติดลบหนัก กระทบบริการประชาชน

กาญจนบุรี – กระทรวงสาธารณสุข โดย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เปิดเผยถึงสถานการณ์ทางการเงินของโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ภายหลังที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาญจนบุรี ได้รับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปดูแลครบทั้ง 144 แห่งทั่วจังหวัด

ปัญหานี้เริ่มต้นขึ้นในปีงบประมาณ 2566 เมื่อ อบจ.กาญจนบุรี ได้ขอเป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเองทั้งหมด ทั้งในส่วนบริการผู้ป่วยนอกและบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ส่งผลให้ อบจ. มีภาระต้องชำระค่าบริการทางการแพทย์กรณีประชาชนไปรับบริการที่โรงพยาบาลแม่ข่ายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในปีนั้น มียอดเรียกเก็บรวมสูงถึง 228.46 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อบจ.กาญจนบุรี กลับชำระเงินมาเพียง 76.48 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.48 เท่านั้น ทำให้ยังคงมีเงินค้างจ่ายกับโรงพยาบาลแม่ข่ายในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 152 ล้านบาท

ภญ.สุภัทรา ได้ยกตัวอย่างผลกระทบต่อโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป มียอดเรียกเก็บสูงสุดถึง 75.02 ล้านบาท แต่กลับได้รับเงินเพียง 8.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.89 เท่านั้น และที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ มีโรงพยาบาลถึง 4 แห่ง ที่ได้รับเงินไม่ถึงร้อยละ 1 ของยอดเรียกเก็บ ได้แก่ โรงพยาบาลไทรโยค (ได้รับ 0.07%), โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 (ได้รับ 0.04%), โรงพยาบาลสังขละบุรี (ได้รับ 0.06%) และโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (ได้รับ 0.16%)

สำหรับปีงบประมาณ 2567 โรงพยาบาลแม่ข่ายกลับมาเป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณเอง จึงไม่มีการเรียกเก็บหนี้จาก อบจ.กาญจนบุรี แต่สถานการณ์กลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้งในปีงบประมาณ 2568 นี้ เนื่องจาก อบจ.กาญจนบุรี ได้ขอเป็นผู้บริหารจัดการงบเหมาจ่ายรายหัวฯ อีกครั้ง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาค้างจ่ายหนี้ซ้ำรอยปี 2566

ขณะนี้ โรงพยาบาลในจังหวัดกาญจนบุรีหลายแห่งกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยมีโรงพยาบาลแม่ข่าย 3 แห่ง ที่มีสถานะเงินบำรุงคงเหลือสุทธิติดลบ คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ติดลบ 34.51 ล้านบาท, โรงพยาบาลเจ้าคุณไพบูลย์พนมทวน ติดลบ 7.86 ล้านบาท และโรงพยาบาลหนองปรือ ติดลบ 5.7 ล้านบาท

ปัญหานี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาล ทั้งในส่วนของการจ่ายหนี้ค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการรักษา รวมถึงค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

ภญ.สุภัทรา กล่าวทิ้งท้ายว่า อบจ.กาญจนบุรี ได้แจ้งว่าจะทยอยจ่ายเงินที่ค้างเป็นรายอำเภอ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถชำระครบถ้วนเมื่อใด ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้อบจ.กาญจนบุรี เร่งทบทวนกระบวนการบริหารจัดการงบประมาณดังกล่าวโดยด่วนที่สุด เพื่อให้โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถดำเนินงานและจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพให้กับประชาชนชาวกาญจนบุรีได้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *