สมุทรสงคราม เร่งเครื่องจัดการ ‘ปลาหมอคางดำ’ ได้ผล! ลดผลกระทบเกษตรกร-สร้างรายได้ชุมชน

สมุทรสงคราม เดินหน้าจัดการปัญหาปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ประมงจังหวัดเผยสถานการณ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมชูโมเดลความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน แก้ปัญหาครบวงจร ตั้งแต่การควบคุมปริมาณไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากปลาที่จับได้ ช่วยเหลือเกษตรกรและเสริมรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

นายวิรัตน สนิทมัจโร ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดการปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สร้างปัญหาการแพร่ระบาดและกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรในพื้นที่ โดยยืนยันว่าจังหวัดสมุทรสงครามยังคงมุ่งมั่นดำเนินการจัดการปลาหมอคางดำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัดมีแนวโน้มลดความชุกชุมลงอย่างชัดเจน

ในปี 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามยังคงยึดแนวทางตามมาตรการของกรมประมง โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนและชาวประมงในพื้นที่ เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และลดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกว่า 800-900 รายที่ยังคงใช้ระบบการเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติ โดยมาตรการหลักยังคงประกอบด้วย:

1. กิจกรรมจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ: ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและใช้วิธีการแบบปูพรมให้ครอบคลุมทุกแหล่งน้ำทั่วทั้งจังหวัด เพื่อลดปริมาณปลาในธรรมชาติโดยตรง

2. การปล่อยปลานักล่า: ปีที่ผ่านมาการปล่อยปลากะพงและปลานักล่าชนิดอื่น ๆ ได้ผลเป็นรูปธรรมในการช่วยควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำควบคู่กันไป

ความสำเร็จของการจัดการปลาหมอคางดำในสมุทรสงครามเกิดจากความร่วมมือที่แข็งแกร่งจากหลายฝ่าย เช่น การยางแห่งประเทศไทยที่เข้ามารับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับปลาที่จับได้ กรมราชทัณฑ์และทหารเรือให้การสนับสนุนด้านกำลังพลในการช่วยจับปลา ส่วนชุมชนและชาวประมงในพื้นที่เองก็มีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและแจ้งข้อมูลการพบปลาในแหล่งน้ำต่างๆ

ประเด็นที่น่าสนใจคือความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งนอกจากการสนับสนุนผู้ต้องขังมาช่วยในการจับปลาหมอคางดำแล้ว ปลายังถูกนำไปใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่น เป็นอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง และยังมีโครงการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นน้ำปลาภายใต้แบรนด์ “หับเผย แม่กลอง” ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ยังเป็นการฝึกอบรมทักษะอาชีพให้กับผู้ต้องขังอีกด้วย

สำหรับในปีนี้ สำนักงานประมงจังหวัดให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่ได้สนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพง ปีที่ผ่านมาได้มอบลูกพันธุ์ปลากะพงจำนวน 28,000 ตัว ให้แก่เกษตรกร 92 ราย เพื่อนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยง ปลากะพงเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นปลานักล่าคอยกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็กในบ่อของเกษตรกร และเมื่อปลากะพงเติบโตเต็มวัย เกษตรกรก็สามารถจับขึ้นมาจำหน่ายสร้างรายได้ ส่วนหนึ่งคือร้อยละสิบของจำนวนที่ได้รับสนับสนุน เกษตรกรจะต้องคืนลูกปลากะพงแก่กรมประมงเพื่อนนำไปปล่อยกลับคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานประมงจังหวัดยังคงสานต่อโครงการกองทุนกากชา เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการจัดการปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการนำปลาหมอคางดำที่จับได้มาแปรรูป เช่น การนำปลาที่จับได้รวม 20,000 กิโลกรัม มาหมักเป็นปลาร้าโดย 2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ร่วมใจพัฒนาบ้านคลองตาจ่า ต.บางยี่รงค์ และองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น กลุ่มตกกุ้งบางพรม ต.บางพรม โดยกลุ่มเหล่านี้ได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปลาร้าเป็นสินค้าต่างๆ เช่น แจ่วบอง น้ำพริกเผาปลาร้า ปลาส้ม และปลาร้าด่วน เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับสมาชิกและชุมชน

จะเห็นได้ว่าจังหวัดสมุทรสงครามใช้แนวทางการจัดการปลาหมอคางดำแบบครบวงจร ทั้งการควบคุมปริมาณ การฟื้นฟูระบบนิเวศ การช่วยเหลือเกษตรกร และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *