กรมอนามัยเผยผลตรวจพื้นที่ตึกถล่ม ‘โลหะหนัก-แร่ใยหิน’ ปกติ แต่พบฝุ่น PM10 เกินมาตรฐาน
18 เม.ย. 68 – พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ส่งทีม SEhRT ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เจเจ มอลล์ จตุจักร เพื่อประเมินความเสี่ยง โดยมีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณโดยรอบพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ตึกถล่ม และสำรวจคุณภาพอากาศภายในศูนย์พักพิงฯ ต่อเนื่อง
เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ผู้ปฏิบัติงานกู้ซากอาคารถล่ม และญาติผู้ประสบภัย จากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา นอกจากนี้ กรมอนามัยยังมีความห่วงใยในเรื่องอาหาร และน้ำดื่มของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จึงได้มอบชุดตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในน้ำและอาหารเบื้องต้นให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
ด้าน นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทีม SEhRT กรมอนามัยได้ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 2 จุด คือ
จุดแรก ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในเต็นท์ศูนย์พักพิง (มูลนิธิ กันจอมพลัง) โดยการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเบื้องต้น (Screening) เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2568 ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) มีค่าอยู่ในช่วง 49.1 – 109.1 µg/m3 สำหรับ PM 2.5 มีค่าอยู่ในช่วง 24.2 – 42.9 µg/m3 และสารอินทรีย์ระเหยรวม (TVOC) มีค่าความเข้มข้นที่ 160 ppb ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่อาจมีบางจุดตรวจวัดที่พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่บ้าง ซึ่งเป็นค่าที่พบได้โดยทั่วไป และอาจต้องมีการเฝ้าระวังในระยะยาว
จุดที่ 2 ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ณ พื้นที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าเต็นท์ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ โดยเก็บตัวอย่างอากาศ เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณฝุ่นรวม (TSP) และโลหะหนักประกอบด้วย ปรอท (Hg) ตะกั่ว (Pb) แคดเมียม (Cd) ทองแดง (Cu) โครเมียม (Cr) รวมถึงเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อวิเคราะห์แร่ใยหิน (Asbestos)
ผลการวิเคราะห์พบว่า ปริมาณโลหะหนักในฝุ่นและแร่ใยหินอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่พบปริมาณฝุ่นรวม (TSP) มีค่า 808 µg/m3 สูงกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดไว้ไม่เกิน 330 µg/m3
“จึงได้แจ้งผลแก่ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อประสานการแนะนำให้ผู้ปฏิบัติงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสกับฝุ่นอยู่ตลอดเวลา สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ในขณะปฏิบัติงาน เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 แว่นตา หากมีการระคายเคืองทางผิวหนังให้รีบทำความสะอาดร่างกาย และจัดให้มีบริเวณพื้นที่ปลอดฝุ่นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
สำหรับญาติผู้ประสบภัยที่อาศัยภายในศูนย์พักพิงฯ ควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้อากาศที่ปนเปื้อนฝุ่นจากภายนอกเข้ามาภายในเต็นท์พักฯ รวมทั้งแนะนำให้ผู้พักอาศัยภายในศูนย์พักพิงสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ” นพ.ธิติ กล่าว