สงกรานต์ 4 วันอันตราย! เสียชีวิต 138 ราย สาเหตุหลักขับเร็ว-ดื่มแล้วขับ
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย.เกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 249 คน ผู้เสียชีวิต 34 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.40 ดื่มแล้วขับ 24.90 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 14.52
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.20 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.89 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.91 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.05 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 13.69
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01-18.00 น. ร้อยละ 22.41 เวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 19.50 และเวลา 12.01 – 15.00 น. ร้อยละ 16.60
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20.14 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,760 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,047 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สระแก้ว (6 ราย)
สรุปยอดสะสม 4 วัน
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (11–14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,000 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,002 คน ผู้เสียชีวิต รวม 138 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 24 จังหวัด
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (36 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (40 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 ราย)
มาตรการเข้มจาก ศปถ.
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาพรวมดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีนี้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงกว่าปีที่ผ่านมา
“ศปถ.ขอให้จังหวัดกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงโดยใช้ด่านชุมชนและด่านครอบครัวในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น”
ทั้งนี้ยังกำชับให้ควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี พร้อมบูรณาการทำงานกับตำรวจในการดูแลกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด