กระทรวงสาธารณสุขเตือนประชาชนระวังเห็ดพิษช่วงหน้าฝน ยึดหลัก “ไม่รู้จัก ไม่เก็บ ไม่กิน”
วันที่ 15 เม.ย. 2568 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่เริ่มมีฝนตกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งที่กินได้และเป็นเห็ดพิษ โดยเฉพาะเห็ดในระยะดอกตูมซึ่งมักมีลักษณะคล้ายกันจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า หากไม่มีความรู้หรือความชำนาญอาจทำให้เข้าใจผิดและนำเห็ดพิษมาประกอบอาหารจนเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้
นายคารมกล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานถึงเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่พบบ่อย คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก เห็ดพิษชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับเห็ดระโงกขาว หรือเห็ดไข่ห่านซึ่งเป็นเห็ดกินได้ แตกต่างกันที่เห็ดระโงกขาวกินได้จะมีรอยขีดสั้นๆ เหมือนกับซี่หวีที่ผิวรอบขอบหมวก เมื่อผ่าก้านจะเห็นว่าก้านกลวง
เห็ดระโงกพบมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม มักพบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าที่มีลักษณะค่อนข้างโปร่ง มีแสงแดดส่องถึงพื้นล่าง และที่สำคัญคือมีไม้วงศ์ยางนา เช่น ยางนา ตะเคียน กระบาก รัง พะยอม หลังกินเห็ดระโงกพิษมักไม่เกิดอาการทันทีแต่จะมีอาการหลัง 4 – 6 ชั่วโมงไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์แม้อาการจะดีขึ้นในช่วงแรกก็ตาม เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที พิษอาจทำลายตับและทำให้เสียชีวิตได้แม้กินเพียงดอกเดียว
สำหรับอาการหลังกินเห็ดพิษมีตั้งแต่เล็กน้อย ได้แก่ วิงเวียน อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวจนถึงอาการรุนแรง ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากที่บ้านมีผงถ่านกัมมันต์หรือผงคาร์บอนให้รีบกินเพื่อดูดซับพิษและจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป ที่สำคัญควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ดและนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย
กระทรวงสาธารณสุขขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเก็บและกินเห็ดป่า เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่ไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่ากินได้ และยึดหลัก “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422