วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีฮูเวอร์ สู่การปฏิรูปของรูสเวลต์
ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (Great Depression) ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการต่าง ๆ แต่มักไม่ประสบความสำเร็จ เริ่มตั้งแต่การสร้างเขื่อนโบลเดอร์ การตั้งคณะกรรมการตลาดการเกษตรกลาง (Federal Farm Marketing Board) เพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตร ไปจนถึงการจัดตั้งบรรษัทฟื้นฟูการเงิน (Reconstruction Finance Corporation) เพื่อปล่อยกู้ฉุกเฉินให้ภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ล้วน “แป้ก” ไม่เป็นผล ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียบ้านและที่ดิน จนฮูเวอร์ต้องผลักดันรัฐบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ (Home Loan Bank Act) เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากสมาชิกสภาคองเกรสที่ส่วนใหญ่มาจากพรรคเดโมแครต
สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อประชาชนจำนวนมากขาดแคลนอาหาร อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ จนเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 1932 ประชาชนจึงหันไปสนับสนุนแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ จากพรรคเดโมแครต
ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง รูสเวลต์ได้ประกาศนโยบาย “3 R” คือ Relief (การบรรเทาทุกข์), Recovery (การฟื้นฟู) และ Reform (การปฏิรูป) โดยเริ่มจากมาตรการเร่งด่วนอย่างการปิดธนาคารชั่วคราว (Bank Holiday) และการออกรัฐบัญญัติฉุกเฉินเพื่อการฟื้นฟูธนาคาร (Emergency Banking Relief Act 1933) ที่ช่วยคัดกรองธนาคารที่มีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ รูสเวลต์ยังปรับขึ้นราคาทองคำเพื่อลดค่าเงินดอลลาร์ ส่งเสริมการส่งออก ออกกฎหมายหลักทรัพย์แห่งชาติ (Federal Securities Act 1933) และปฏิรูประบบธนาคารผ่านรัฐบัญญัติการธนาคาร (Banking Act 1933) ที่แยกธนาคารพาณิชย์กับธนาคารเพื่อการลงทุน และจัดตั้งบริษัทค้ำประกันเงินฝากแห่งชาติ
มาตรการเหล่านี้ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านรายการวิทยุ “Fire Side Chat” ที่ประธานาธิบดีคุยกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง สร้างความเข้าใจในนโยบายของรัฐบาล