แพทย์เตือน! ยาทำให้ง่วง เสี่ยงหลับในสูง ห้ามขับรถ-ทำงานกับเครื่องจักร

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พบอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมากมีสาเหตุจากการหลับใน โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงและหลับในระหว่างขับขี่

“ยาหลายชนิดมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม หากขับขี่หลังรับประทานยา จะเสี่ยงต่อการหลับในและการตัดสินใจช้าลง” นพ.ภาณุมาศกล่าว พร้อมระบุกลุ่มยาที่ต้องระวัง ได้แก่ ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาโรคซึมเศร้า ยากันชัก ยารักษาอาการปวดเส้นประสาท เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin) ยาแก้ปวดรุนแรง เช่น มอร์ฟีน, ทรามาดอล (Tramadol), โคเดอีน (Codeine) ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูกบางชนิด

นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนว่าอาการง่วงจากยามักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงหลังรับประทาน และอาจต่อเนื่องหลายชั่วโมง “สภาพร่างกายในช่วงเจ็บป่วยก็เพิ่มความเสี่ยงหลับใน โดยเฉพาะการขับขี่ทางไกล”

พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผอ.กองป้องกันการบาดเจ็บ แนะนำให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อได้รับยาใหม่ และอ่านฉลากยาก่อนใช้เสมอ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *