นักวิชาการเผยจารึกวัดอินทาราม ยืนยัน ‘อโยธยา’ มีจริงก่อนกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่แค่เมืองในตำนาน
กรณีวัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี ค้นพบจารึกบนฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในเก๋งจีน ศาลารายของพระอุโบสถ ปรากฏคำสำคัญว่า ‘ศรีอโยธยา’ รวมถึงนามบุคคลในพงศาวดาร ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1974 ในรัชกาลเจ้าสามพระยา แห่งกรุงศรีอยุธยา
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และผศ. ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เผยแพร่คำอ่านอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจารึกนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันการมีอยู่จริงของเมืองอโยธยาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า แม้คำว่า ‘ศรีอโยธยา’ ในจารึกจะหมายถึงกรุงศรีอยุธยา แต่สะท้อนถึงความทรงจำในชื่อเมืองเดิมก่อน พ.ศ.1893 เนื่องจากจารึกนี้เป็นของมูลนายหรือชนชั้นนำจากศรีสัชนาลัยในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่ยังคงเรียกชื่อเดิมของเมือง
“อโยธยาเป็นชื่อเก่าก่อน พ.ศ.1893 ต่อมาเมื่อย้ายราชสำนักมาอยู่ที่หนองโสน ก็เปลี่ยนชื่อเป็นอยุธยา แต่คนแถบข้างนอกยังเรียกชื่อเดิม” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุ พร้อมยกตัวอย่างว่าเอกสารล้านนาและพม่ายังเรียกอยุธยาว่าอโยธยา
นอกจากนี้ยังพบคำว่า ‘ศรีอโยธยา’ ในจารึกลานทองวัดส่องคบ จังหวัดชัยนาท ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนด้วยอักษรขอม ภาษาไทย สะท้อนว่าชื่อนี้ยังถูกใช้โดยขุนนางในหัวเมือง
“ผมมองว่ามันสะท้อนถึงการเคยมีอยู่จริงของอโยธยา ที่มีมาก่อนอยุธยา ไม่ใช่แค่เมืองในตำนาน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย