จาตุรนต์ เร่งดันยกเลิกคำสั่งคสช. 23 ฉบับ เข้าสภาวาระ 2 สมัยหน้า เหลืออีก 22 ฉบับต้องแก้ไขเพิ่มเติม
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 เม.ย. 2568 ที่รัฐสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่หมดความจำเป็น และไม่เหมาะสมกับการปัจุบัน พ.ศ…. แถลงข่าวว่า กมธ. ทำงานในเวลา 7 เดือนที่ผ่านมาได้พิจารณาโดยใช้หลักการของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่เสนอให้ยกเลิกประกาศคำสั่งคสช. ทั้งหมด 23 ฉบับ ที่หมดความจำเป็น หรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเสร็จสิ้นแล้ว และพร้อมที่จะเสนอเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ในต้นสมัยประชุมหน้า คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า จากการทำงานของคณะกรรมาธิการ ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ทำให้สามารถยกเลิกคำสั่งคสช. ได้ถึง 55 ฉบับซึ่งมากกว่า หลักการที่มีจำนวนถึง 23 ฉบับ และทำให้เหลือคำสั่งคสช.ที่ยังค้างไว้ 22 ฉบับ ซึ่งใน 55 ฉบับที่กรรมาธิการได้ยกเลิกได้ครอบคลุมหลากหลาย อาทิ คำสั่งที่ละเมิดสิทธิที่เสรีภาพในการแสดงออก อย่างประกาศคสช.ฉบับที่ 49/2557 ความผิดสำหรับการสนับสนุนทางการเมือง ซึ่งคำสั่งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ให้การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการกำหนดโทษทางอาญา ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างมาก หรือคำสั่งที่เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ราชการ ในการละเมิดประชาชนเช่นคำสั่งคสช 13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการ ที่เป็นภยันอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งคำสั่งนี้มีผลให้อำนาจกับข้าราชการไม่ต่างจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สามารถเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุมหรือเข้าไปในเคหสถาน เพื่อตรวจยึดทรัพย์สินและควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ถือเป็นการสร้างปัญหาร้ายแรง และส่งผลต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานนั้นๆ ทางกมธ. จึงพิจารณายกเลิกทันที
นายจาตุรนต์ ยอมรับว่า การพิจารณาของกมธ.ทำได้อย่างจำกัด เป็นผลให้มีประกาศ/คำสั่ง คสช.ที่พิจารณาให้คงไว้ 22 ฉบับ เนื่องจากบางฉบับมีเนื้อหาซับซ้อน ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือเป็นเรื่องนโยบายทางบริหาร รวมถึงบางฉบับจำเป็นต้องตราหมายใหม่ขึ้นมาทดแทน หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกันเสียก่อน จึงจะยกเลิกคำสั่งเหล่านั้นได้ ดังนั้น คำสั่งคสช.ที่คงค้างไว้จึงเป็นงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐสภาที่จะต้องล้างมรดกนี้ให้สำเร็จไปด้วยกัน