เชียงใหม่ เตรียมชม ‘ไมโครฟูลมูน’ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี คืนสงกรานต์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 13 เมษายน 2568 จะเกิดปรากฏการณ์ “ไมโครฟูลมูน” หรือดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี โดยดวงจันทร์จะอยู่ห่างจากโลกถึง 406,000 กิโลเมตร ทำให้มีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติ
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ระบุว่าสามารถเริ่มสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่เวลา 18.48 น. ของวันที่ 13 เมษายน บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และจะมองเห็นได้จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 เมษายน ซึ่งตรงกับคืนวันสงกรานต์พอดี
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี โดยตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) ซึ่งมีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร ในขณะที่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) อยู่ที่ประมาณ 357,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ในปี 2568 ยังจะมีปรากฏการณ์ “ซูเปอร์ฟูลมูน” หรือดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยดวงจันทร์จะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ