ครบรอบ 64 ปี มรณกาล ‘หลวงพ่อลี ธัมมธโร’ วัดอโศการาม : รำลึกเกจิสายพระป่า ศิษย์เอกพระอาจารย์มั่น

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568 เวียนมาบรรจบครบ 64 ปี แห่งการมรณกาลของ “หลวงพ่อลี ธัมมธโร” หรือที่ลูกศิษย์ลูกหารู้จักในนาม “ท่านพ่อลี” อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนและคณะศิษยานุศิษย์จะได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงคุณูปการและวัตรปฏิบัติอันงดงามของพระเถระผู้ใหญ่สายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นศิษย์สำคัญรูปหนึ่งของ “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” บูรพาจารย์สายพระป่า

หลวงพ่อลี ธัมมธโร นับเป็นพระเกจิผู้ทรงคุณธรรมและมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการวางรากฐานสำนักปฏิบัติธรรมที่เข้มแข็งอย่างวัดอโศการาม ซึ่งท่านได้ริเริ่มและสร้างขึ้นจากสถานที่ที่เคยเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ จนเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ศรัทธาและพึ่งพิงทางใจของพุทธศาสนิกชนมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่บุคคลสำคัญอย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังมาฝากตัวเป็นศิษย์และให้ความเคารพศรัทธาในปฏิปทาของท่าน สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อลี ทั้งที่สร้างขึ้นในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่และสร้างขึ้นภายหลังจากมรณภาพแล้ว ล้วนแต่ได้รับความนิยมและเป็นที่เสาะแสวงหาในหมู่นักสะสม

ชาติภูมิของหลวงพ่อลี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2449 ณ บ้านหนองสองห้อง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ในวัยเด็ก ท่านมีอุปนิสัยค่อนข้างเลี้ยงยาก และสุขภาพไม่แข็งแรงนัก แต่สิ่งที่ติดอยู่ในความคิดของท่านมาโดยตลอดคือความสนใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษ และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในอนาคต

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ.2468 ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทในสังกัดมหานิกาย ต่อมาท่านมีโอกาสได้พบและฟังธรรมจาก “พระอาจารย์บท” ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระอาจารย์บทอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจออกธุดงค์ติดตามเพื่อไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี

ท่านได้รับการชี้แนะจากพระอาจารย์มั่นเพียงสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งว่า “คำว่า พุทโธ นี้ คือความพิเศษ เป็นดวงแก้วแห่งธรรม” ซึ่งถือเป็นอุบายเบื้องต้นในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน นอกจากนี้ ท่านยังได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมจากพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ณ บ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสงบสงัดเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา

ด้วยความเพียรพยายามอย่างแรงกล้าในการปฏิบัติธรรมและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในปี พ.ศ.2471 หลวงพ่อลีจึงได้แปรญัตติจากมหานิกายเป็น “ธรรมยุติกนิกาย” โดยมีพระอาจารย์มั่นเป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณร และมีพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) วัดปทุมวนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากนั้น ท่านได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นเรื่อยมา จนกระทั่งพระอาจารย์มั่นได้เมตตาให้ท่านออกธุดงค์โดยลำพัง เพื่อฝึกฝนและบำเพ็ญเพียรด้วยตนเอง หลวงพ่อลีจึงออกธุดงค์กัมมัฏฐานไปในสถานที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศไทย และข้ามไปยังประเทศกัมพูชา พม่า และอินเดีย การธุดงค์ครั้งนี้ทำให้ท่านได้พบกับสัจธรรมและเจริญในธรรมยิ่งขึ้น จนในที่สุด ท่านได้มาจำพรรษา ณ สำนักสงฆ์แม่ชีขาว จังหวัดสมุทรปราการ

ณ สถานที่แห่งนี้เอง หลวงพ่อลีได้เริ่มก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่เน้นการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด อาจสืบเนื่องมาจากท่านได้นิมิตเห็นว่าเป็นบริเวณที่เคยมีการบรรจุพระบรมธาตุมาก่อน ท่านได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดอโศการาม” ด้วยความประสงค์ที่จะให้เป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงคุณของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดียที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนามายังดินแดนต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ท่านได้ก่อสร้างรูปเหมือนพระเจ้าอโศกมหาราช และสิ่งก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ จนพัฒนาเป็น “วัดอโศการาม” ที่มีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์รวมศรัทธามาจนถึงทุกวันนี้

หลวงพ่อลี ธัมมธโร นับเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระเกจิอาจารย์สายกัมมัฏฐานที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีพลังจิตเข้มขลัง และทรงอภิญญา เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศและต่างแดน

ในด้านสมณศักดิ์ สุดท้ายที่ท่านได้รับพระราชทานคือ ในปี พ.ศ.2500 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระสุทธิธรรมรังสี”

ค่ำคืนวันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ.2504 หลวงพ่อลีได้นั่งสนทนาธรรมอยู่กับลูกศิษย์ และได้เมตตาให้ลูกศิษย์จดบันทึกเรื่องอริยสัจจ์ จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. ท่านจึงเข้าไปพักผ่อนโดยมีอาการปกติทุกอย่าง บทความที่ท่านให้บันทึกและแก้ไขเพิ่มเติมในหนังสือสังฆกิจและมูลกัมมัฏฐานนั้น ถือเป็นบันทึกธรรมครั้งสุดท้ายที่ท่านได้เมตตาฝากไว้แก่คณะศิษย์

ครั้นรุ่งเช้าวันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ.2504 คณะศิษย์ได้รอถวายภัตตาหารเช้าแด่หลวงพ่อลีตามปกติ แต่รออยู่จนสายก็ยังไม่เห็นท่านออกจากกุฏิ ด้วยความสงสัย จึงได้ไปที่กุฏิของท่าน เห็นว่าผิดปกติเงียบสงัดไป จึงได้เปิดหน้าต่างและเข้าไปดู ปรากฏว่าหลวงพ่อลีได้มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุได้ 55 ปี 3 เดือน และบวชมาได้ 35 พรรษา สร้างความอาลัยเศร้าโศกแก่คณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง

แม้หลวงพ่อลีจะละสังขารไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ วัดอโศการาม ยังคงได้รับการพัฒนาและสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านอย่างต่อเนื่อง มีการขยายพื้นที่และก่อสร้าง พระธุตังคเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบที่ท่านได้เคยวางไว้สำเร็จลุล่วง เป็นปูชนียสถานอันสำคัญที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และยังใช้เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หลักอานาปานสติกัมมัฏฐาน” ซึ่งเป็นแนวทางที่ท่านได้วางรากฐานและเน้นย้ำ

ชื่อเสียงและเกียรติคุณของหลวงพ่อลี ธัมมธโร ยังคงอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชน ซึ่งยังคงเดินทางไปสักการะและน้อมรำลึกถึงท่าน ณ วัดอโศการามอย่างสม่ำเสมอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *